สารบัญ
พระยาชลยุทธโยธินทร์

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5เป็นสมัยที่มหาอำนาจที่สำคัญทางตะวันตก คือ อังกฤษ และฝรั่งเศสกำลังคุกคามไทยอย่างหนัก ไทยจำเป็นต้องปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยทุกด้านโดยด่วน เพื่อไม่ให้มหาอำนาจตะวันตกถือเอาความล้าหลังของไทยเป็นข้ออ้างเข้ามาแทรกแซงได้ แต่เนื่องจากไทยยังขาดแคลนบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ และมีประสบการณ์ ในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ความทันสมัย วิธีที่ง่าย และสะดวกรวดเร็วจึงเป็นการว่าจ้างชาวต่างประเทศที่มีความรู้ทางวิทยาการสมัยใหม่เข้ามาช่วยดำเนินการ เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปอย่างรวดเร็วทันการณ์ และเพื่อถ่ายทอดวิชาให้ไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้ในอนาคต

การว่าจ้างชาวต่างประเทศของไทยทำอย่างระมัดระวังเสมอ โดยเฉพาะการจ้างชาวต่างประเทศไว้ในกองทัพ เพราะหากเกิดการขัดแย้งเมื่อไรชาวต่างชาตินั้นก็คือสายลับชั้นดีนั่นเอง แต่เพราะการทหารเรือเป็นวิชาการชั้นสูง และเป็นของใหม่สำหรับไทย ผู้เชี่ยวชาญการเดินเรือจึงเป็นชาวต่างชาติพวกแรกที่ไทยต้องพึ่งพาตั้งแต่เมื่อมีการเปลี่ยนจากเรือกำปั่นใบมาเป็นเรือกลไฟในสมัยรัชกาลที่ 3 ในระยะแรกกองทัพเรือไทยจ้างชาวอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ แต่ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศที่ไม่น่าไว้วางใจ ไทยได้หลีกเลี่ยงที่จะจ้างชาวอังกฤษ และฝรั่งเศสในกิจการที่เกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ กองทัพเรือไทยได้เปลี่ยนมาจ้างชาวเดนมาร์กมากขึ้นเพราะชนชาติเดนมาร์กเชี่ยวชาญการเดินเรือ และไม่มีนโยบายแทรกแซงประเทศอื่น

นายทหารเรือเดนมาร์กคนแรกในกองทัพเรือไทย คือ กัปตันริเชอลิเยอ หรือ ริเชอลิว ( Andre/ du Plessis de Richelieu ) ซึ่งเดินทางเข้ามารับราชการในไทยเมื่อพ.ศ.2418 โดยมีพระราชหัตถเลขาจากพระเจ้าคริสเตียนที่ 9 แห่งกรุงเดนมาร์กมาถวายรัชกาลที่5 เพื่อทูลฝากฝังกัปตันริเชอลิว นับเป็นก้าวแรกของการสร้างความไว้วางพระราชหฤทัยในตัวกัปตันริเชอลิว งานแรกของเขาคือเป็นผู้บังคับการเรือสยามมงกุฏชัยสิทธิ์ ออกไปรักษาการณ์ที่ภูเก็ตเป็นเวลา 2 ปี เมื่อกลับเข้ามาในกรุงเทพฯ พ.ศ. 2420 เขาได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้รับราชการใกล้ชิดพระองค์มาโดยตลอด ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหลวงชลยุทธโยธินทร์ มีตำแหน่งเป็นปลัดกรมแสงซึ่งเป็นกรมที่สำคัญเพราะเป็นกรมที่ได้ดูแลปืนกลแกตลิง ( Gatling Gun ) อาวุธร้ายแรงใหม่สุดที่เก็บไว้เฉพาะในวังหลวงสำหรับรักษาพระองค์ ระหว่างนี้หลวงชลยุทธโยธินทร์ได้เป็นผู้บังคับการเรือพระที่นั่ง เวสาตรีด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง และบังคับการเรือนี้อยู่ 12 ปี จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระ และพระยาชลยุทธโยธินทร์ตามลำดับ ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนเรือพระที่นั่งเป็นเรือพระที่นั่งอุบลบุรทิศ และเรือพระที่นั่งมหาจักรี พระยาชลยุทธโยธินทร์ก็ได้ย้ายมาบังคับการเรือพระที่นั่งทั้ง 2 ลำนี้ด้วยตามลำดับ จึงได้ติดตามเสด็จประพาสทางน้ำอย่างใกล้ชิดทั้งตามแม่น้ำ ชายฝั่งทะเล และต่างประเทศ เช่น ชวา สิงคโปร์ เป็นต้น

ความเป็นชาวต่างชาติของพระยาชลยุทธโยธินทร์ก่อให้เกิดอุปสรรคในการรับราชการพอสมควร มักจะมีคนไม่พอใจการปฏิบัติงาน และเห็นว่าไม่จงรักภักดีอย่างจริงใจเพราะราชการทหารเรือไม่เจริญเท่าที่ควร แต่จะโทษว่าเป็นเพราะชาวต่างประเทศที่จ้างมาไม่ตั้งใจจริงในการทำงานก็ยังไม่ถูกต้องนัก เพราะสภาพทั่วไปของราชการไทยในขณะนั้นทำให้ผู้ปฏิบัติงานเกิดความท้อแท้ กรมทหารเรือยังขาดแคลนทั้งวัตถุ และบุคคล การบริหารงานไม่เป็นระเบียบ ผู้บริหารงานระดับสูงไม่มีความรู้ทางวิชาการทหารเรือ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ส่วนมากทำงานเพียงให้เสร็จไปวันหนึ่งๆ และบางครั้งก็ถือโอกาสใช้ตำแหน่งแสวงหาผลประโยชน์อีกด้วย

พระยาชลยุทธโยธินทร์เห็นความสำคัญของการมีนายทหารชั้นสัญญาบัตรคนไทยมาทำหน้าที่นายเรือ และนายต้นกลเพราะนายทหารต่างชาติบังคับบัญชาพลทหารไม่ได้ ไม่เข้าใจกัน และไม่สามารถชักจูงให้ทหารรักชาติ และเต็มใจทำประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองได้ นายทหารไทยที่มีความรู้ทางวิชาการชั้นสูงจะเป็นสมองในการสร้างสรรค์กองทัพเรือให้มีสมรรถภาพ แต่ก็มีอุปสรรคมากเพราะบุคคลที่เกณฑ์มาเรียนมีพื้นความรู้ไม่พอ และไม่เอาใจใส่ ตัวอาคารก็ไม่มีต้องใช้เรือรบเป็นโรงเรียน เรือรบก็แพงมากจึงไม่ได้รับการสนับสนุนให้สร้าง เพราะคิดกันว่าการบำรุงกองทัพเรือจะได้ผลไม่คุ้มค่า เป็นการลงทุนที่สูญเปล่า ถึงเตรียมพร้อมไว้ก็ไม่สามารถต้านทานศัตรูที่เป็นมหาอำนาจได้ กองทัพเรือได้สร้างเรือคราวละ 2 ลำ แต่ละคราวห่างกัน 10 ปี กว่าจะได้เรือใหม่ก็เป็นเวลาที่เรือลำเดิมชำรุดแล้ว กองทัพเรือจึงไม่เคยมีเรือพอที่จะจัดเป็นหน่วยรบได้สมบูรณ์ตามโครงการแม้แต่ครั้งเดียว

เมื่อเกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศสใน ร.ศ.112 (พ.ศ.2436) พระยาชลยุทธโยธินทร์ในตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารเรือได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการป้องกันปากน้ำเจ้าพระยา ทั้งพระยาชลยุทธโยธินทร์ และผู้บังคับการเรือชาวเดนมาร์กได้บัญชาการรบอย่างกล้าหาญพยายามต้านเรือฝรั่งเศสอย่างเต็มความสามารถ เรือทุกลำ และป้อมกระหน่ำยิงเรือฝรั่งเศสอย่างไว้ศักดิ์ศรี แต่ต้านทานไว้ไม่ได้เพราะกำลังอาวุธ และบุคลากรของไทยยังด้อยกว่าฝ่ายฝรั่งเศสมาก ฝรั่งเศสใช้เล่ห์เหลี่ยมทางการทูต และขยายผลสงครามด้วยการส่งเรือรบจำนวน 12 ลำมาปิดอ่าวไทย บังคับให้ไทยทำสนธิสัญญาสงบศึก และอนุสัญญาที่มีผลให้ไทยต้องเสียดินแดนสิบสองจุไทย และฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงพร้อมทั้งเงินอีก 3 ล้านแฟรงค์ให้ฝรั่งเศส โดยฝรั่งเศสได้ยึดจันทบุรีไว้ 10 ปี เพื่อเป็นประกันว่าไทยจะทำตามสัญญาทุกประการ แม้ว่าไทยจะต้านเรือฝรั่งเศสไว้ไม่ได้แต่การปะทะกันที่ปากน้ำครั้งนั้นก็ไม่ได้เปล่าประโยชน์เสียทีเดียว เพราะเกิดผลทางอ้อมทำให้นานาชาติที่ไม่เคยสนใจการคุกคามไทยทางบกของฝรั่งเศสที่ชายแดนเขมร กลับตื่นตัวสนใจประเทศไทยมากขึ้นเพราะเป็นห่วงทรัพย์สิน และผลประโยชน์ของตน จึงพากันส่งเรือรบมาคุมเชิงทำให้ฝรั่งเศสไม่อาจยึดครองไทยได้โดยสะดวก

บทบาท และน้ำใจที่นายทหารชาวเดนมาร์กแสดงไว้ในเหตุการณ์ ร.ศ.112 ทำให้ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยมากขึ้น พระยาชลยุทธโยธินทร์ได้ขึ้นเป็นผู้บัญชาการกรมทหารเรือ กองทัพเรือจ้างชาวเดนมาร์กเข้ารับราชการมากขึ้น รวมมีนายทหารชาวเดนมาร์ก 50 คนในจำนวนนายทหารเรือต่างชาติ 164 คน และเมื่อไทยจัดตั้งกรมตำรวจภูธรขึ้นใน พ.ศ.2440 รัฐบาลไทยไว้วางใจที่จะจ้างนายทหารชาวเดนมาร์กมารับราชการในกรมใหม่นี้ทั้งหมด

พระยาชลยุทธโยธินทร์เป็นชาวต่างชาติที่ได้รับเกียรติยศ และความไว้วางใจจากไทยอย่างสูงได้รับพระราชทานยศเป็นพลเรือโท มีตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการกรมทหารเรือ ซึ่งในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์มีแต่เจ้านายไทยเชื้อพระวงศ์ระดับสูงเท่านั้นที่เคยดำรงตำแหน่งนี้ อีกทั้งยังได้รับพระราชทานเครื่องอิสริยาภรณ์เป็นพิเศษ คือ มหาวราภรณ์ประดับเพชร ซึ่งปกติตรานี้จะประดับเพชรเฉพาะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเท่านั้น นอกจากนี้ยังได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ ชั้นที่1 จ.ป.ร. กรอบประดับเพชร ซึ่งแสดงว่าเป็นข้าราชการในพระองค์ที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยมาก และ มีแต่พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าเท่านั้นที่ได้รับพระราชทานตรานี้

ชาวต่างประเทศในกองทัพเรือได้รับเงินเดือนมากกว่าคนไทยที่มีความรู้ความสามารถเท่ากันเกือบเท่าตัว อัตราเงินเดือนนายทหารยุโรปชั้นต่ำสุด 550 บาท ส่วนนายทหารเรือไทยที่จบการศึกษามาจากโรงเรียนนายเรือประเทศอังกฤษได้รับเงินเดือน 300 บาท ก่อนลาออกจากราชการในพ.ศ.2443 พระยาชลยุทธได้เงินเดือน 2,000บาท และจะได้เบี้ยบำนาญปีละ 8,000บาท แต่รัชกาลที่ 5 ทรงเห็นว่าพระยาชลยุทธโยธินทร์ได้รับราชการมาด้วยน้ำใจสวามิภักดิ์มานานถึง 27 ปี จึงโปรดเกล้าฯให้ตั้งบำนาญให้เป็นพิเศษปีละ 15,000 บาท

ชีวิตบั้นปลายของพระยาชลยุทธโยธินทร์ในประเทศเดนมาร์ก เขายังได้รับเกียรติให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ และประธานกรรมการในบริษัทพาณิชย์ที่สำคัญหลายแห่ง เป็นกรรมการในธนาคาร Danish Laudmands Bank ซึ่งเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย และเป็นสมาชิกรัฐสภาถึง 2 สมัย อาจกล่าวได้ว่า ปัจจัยส่วนหนึ่งที่ส่งเสริมให้ยังคงรักษาฐานะความสำคัญของตนเองไว้ได้ ก็คือ ผลงานในเมืองไทยทั้งชื่อเสียงเกียรติยศทางราชการ การพิทักษ์ผลประโยชน์ของชาวเดนมาร์กตลอดจนการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างราชวงศ์ไทย และเดนมาร์ก บทบาทดังกล่าวนี้ส่งผลให้พระยาชลยุทธโยธินทร์เป็นที่รู้จัก และนับถือในวงการธุรกิจ และการเมืองของเดนมาร์ก และที่สำคัญคือพระยาชลยุทธโยธินทร์ได้มีโอกาสสะสมทุนทรัพย์จากเงินเดือนที่ได้รับในอัตราสูงเป็นพิเศษ และการต่อทุนโดยลงทุนประกอบธุรกิจในไทยทำให้กลับไปเดนมาร์กในฐานะเศรษฐีคนหนึ่ง

หนังสืออ่านเพิ่มเติม
- มลิวัลย์ คงเจริญ , “บทบาท และกิจการทหารเรือไทยสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์” , วิทยานิพนธ์ ปริญญามหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , 2517.
- มลิวัลย์ แตงแก้วฟ้า , “พระยาชลยุทธโยธินทร์ : ผลประโยชน์หรือความจงรักภักดี” , วารสารอักษรศาสตร์ (ฉบับคนกับความคิด ), มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 2525.
หน้า จาก ๒๒ หน้า