การทำเหมืองแร่ดีบุกนับเป็นกิจกรรมสำคัญที่นำความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมาสู่ภาคใต้ของไทยนับตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ 25 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณหัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันตก หรือมณฑลภูเก็ต อันประกอบด้วยเมืองภูเก็ต ตรัง พังงา ตะกั่วป่า และระนอง เป็นบริเวณที่มีแร่ดีบุกอุดมสมบูรณ์มากที่สุดของประเทศ ราษฎรที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ประกอบอาชีพด้วยการขุดหาแร่ดีบุกมาตั้งแต่อดีต แต่เหมืองแร่ดีบุกขยายตัวจนเป็นกิจการทางเศรษฐกิจหลักของภูเก็ตภายหลังจากการเข้ามาลงทุนของชาวจีน และชาวตะวันตก
ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 25 ชาวจีนได้เข้ามามีบทบาทในกิจการเหมืองแร่ดีบุกของภูเก็ตทั้งในฐานะแรงงาน และนายเหมืองที่ร่วมลงทุนกับผู้ว่าราชการเมืองของมณฑลภูเก็ต แต่ต่อมาเมื่อรัฐดำเนินนโยบายปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีอากร ในพ.ศ. 2430 (ค.ศ.1887) โดยดึงอำนาจการจัดเก็บภาษีอากรของผู้ว่าราชการการเมืองเข้าสู่ส่วนกลาง และเปิดให้มีการประมูลผูกขาดเป็นเจ้าภาษีนายอากรอย่างเสรี มีผลให้ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ชาวจีนที่สามารถประมูลเป็นเจ้าภาษีนายอากรได้เข้ามามีบทบาทในกิจการเหมืองแร่ดีบุก โดยในระยะแรกชาวจีนอาศัยผลประโยชน์จากการผูกขาดภาษีอากรเป็นทุนหมุนเวียนในกิจการทำเหมืองขนาดใหญ่ในเมืองภูเก็ตมากขึ้นดังกรณีตัวอย่าง หลวงอร่ามสาครเขตร (ตันเพ็กฮวด ตัณฑัยย์) หลวงขจรจีนสกล (ตันเลี่ยนกี่) นอกจากนั้นยังมีนายเหมืองชาวจีนที่ไม่ได้เป็นเจ้าภาษีนายอากร แต่สามารถเข้ามาทำเหมืองขนาดกลาง ได้แก่ โกยลิก้อ ลิมเองเซ่ง กามยกเท้ง และตันเองกี่ นายเหมืองเหล่านี้เป็นจีนฮกเกี้ยนที่มาจากเมืองปีนัง และสิงคโปร์ อย่างไรก็ดีการเข้ามาลงทุนทำเหมืองแร่ของนายเหมืองชาวจีนในช่วงนี้มีส่วนสำคัญในการพัฒนาเทคนิควิธีการทำเหมืองแร่ดีบุกของภูเก็ตจากเหมืองขนาดเล็กเป็นเหมืองขนาดกลาง และใหญ่ โดยเฉพาะเหมืองหาบ และเหมืองปล่อง ซึ่งเป็นวิธีการทำเหมืองแบบใหม่ที่ต้องอาศัยเงินทุน และทักษะความชำนาญของแรงงานที่สูงมากขึ้น
ส่วนกิจการเหมืองแร่ดีบุกของชาวจีนในระยะที่สอง ซึ่งเป็นช่วงหลังจากการยกเลิกระบบผูกขาดภาษีอากรลงทั้งหมดใน พ.ศ. 2462 (ค.ศ. 1919) ส่งผลให้นายเหมืองชาวจีนที่เป็นเจ้าภาษีนายอากรขาดผลประโยชน์ที่ได้จากการผูกขาดภาษีอากรมาใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการทำเหมืองอีกต่อไป ในขณะเดียวกันเป็นการเปิดโอกาสให้เอกชนชาวจีนกลุ่มอื่นโดยเฉพาะนายเหมืองชาวจีนที่เคยทำเหมืองขนาดเล็ก และกลาง ในระยะที่ยังมีระบบเจ้าภาษีนายอากรเริ่มเข้ามาขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ในเมืองต่าง ๆ ของมณฑลภูเก็ตเพิ่มมากขึ้น เช่น ในเมืองภูเก็ตมีตระกูลโดยสมบูรณ์ อุดมทรัพย์ ตะกั่วป่ามีตระกูลวานิช บุญสูง และเมืองตรังมีตระกูลจันทรประทีป และศุภผล เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีชาวจีนกลุ่มใหม่ที่เริ่มเข้ามาขอประทานบัตรภายหลังการยกเลิกระบบเจ้าภาษีนายอากร ได้แก่ ตระกูลหงส์หยก ทองตันในเมืองภูเก็ต ตระกูลจูยี่ และโฮ่เซ่งหลีในเมืองระนอง เป็นต้น
การหมุนเวียนเงินทุนของนายเหมืองชาวจีนในระยะที่สองนี้ อาศัยผลกำไรจากการตั้งร้านค้าขายเครื่องอุปโภคบริโภคภายในเหมือง การตั้งร้านรับแลกเปลี่ยนเงินตรา และกิจการโพยก๊วนเป็นเงินทุนในการทำเหมือง ส่วนเทคนิค และวิธีการทำเหมืองยังคงใช้วิธีการทำเหมืองหาบ และเหมืองปล่องเหมือนในระยะแรก มีเพียงนายเหมืองที่ร่ำรวยบางรายเริ่มนำเอาเครื่องสูบน้ำมาใช้ในการทำเหมืองสูบในพ.ศ. 2469 (ค.ศ. 1926) เช่น นายโกยลิก้อ โกยสมบูรณ์ นายตันจินหงวน หงษ์หยก และนายตันเฉ่งเกียด ทองตัน รวมทั้งเริ่มเอาวิธีการทำเหมืองเรือขุดของชาวตะวันตกเข้ามาใช้เป็นครั้งแรกของนายตันจินหงวน หงษ์หยก ที่เมืองพังงา ในพ.ศ. 2470 (ค.ศ. 1927)
นอกจากการทำเหมืองแร่ดีบุกแล้ว ชาวจีนยังมีบทบาทในกิจการซื้อขายแร่ดีบุกด้วยโดยห้างโกหงวน (Koh Guan Compony) ของตระกูลณ ระนอง ผูกขาดการซื้อขายดีบุกคอเวอนแมนต์ ซึ่งเป็นดีบุกของรัฐที่ได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมดีบุกส่งออก รวมทั้งยังมีบทบาทในการรับซื้อดีบุกจากเหมือง และร้านรับซื้อดีบุกรายย่อยในเมืองต่าง ๆ ของมณฑลภูเก็ตเพื่อส่งออกไปจำหน่ายยังเมืองปีนัง แต่ต่อมาในพ.ศ. 2449 (ค.ศ. 1906) เมื่อบริษัทสเตรทส์ เทรดดิง ( Straits Trading Company) ซึ่งเป็นบริษัทของอังกฤษที่มีโรงงานถลุงแร่ในสิงคโปร์เข้ามาตั้งสาขาในเมืองภูเก็ต จนสามารถกว้านซื้อแร่ได้ครึ่งหนึ่งของผลผลิตดีบุกในมณฑลภูเก็ตจึงส่งผลให้ตระกูล ณ ระนอง พยายามปรับตัวโดยการร่วมหุ้นกับนายทุนชาวจีนในปีนังจัดตั้งบริษัทอิสเทิร์น สเมลติ้ง ( Eastern Smelting Company) ขึ้นมาเพื่อทำการแข่งขันแต่ไม่ประสบความสำเร็จจึงขายกิจการต่อให้นักลงทุนชาวอังกฤษ ดังนั้นการซื้อขายแร่ดีบุกของมณฑลภูเก็ตจึงตกอยู่ภายใต้การผูกขาดของชาวตะวันตก
ชาวตะวันตกเข้ามามีบทบาทในกิจการเหมืองแร่ดีบุกของมณฑลภูเก็ตใน 2 ช่วงเวลา ช่วงแรกระหว่าง พ.ศ. 2434-2449 (ค.ศ. 1891-1906)เป็นช่วงที่ชาวตะวันตกเริ่มให้ความสนใจในการเข้ามาลงทุนทำเหมืองในมณฑลภูเก็ตมากขึ้น ภายหลังจากที่รัฐได้เริ่มปรับปรุงระเบียบการบริหาร และควบคุมการทำเหมืองแร่ให้ได้มาตรฐานตามหลักสากล โดยเฉพาะภายหลังจากที่รัฐได้จัดตั้งกรมราชโลหกิจ และภูมิวิทยาในพ.ศ. 2434 (ค.ศ. 1891) รวมทั้งการตราพระราชบัญญัติเหมืองแร่ในพ.ศ. 2444 (ค.ศ. 1901) ซึ่งได้มีส่วนกระตุ้นให้ชาวตะวันตกเริ่มให้ความสนใจในการขออนุญาตตรวจแร่ที่เรียกว่า “อาชญาบัตรตรวจแร่” ในมณฑลภูเก็ตเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะบริษัท และเอกชนในบังคับอังกฤษเป็นกลุ่มที่ได้รับอาชญาบัตรในการตรวจแร่มากที่สุด เหตุที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งสืบเนื่องมาจากอนุสัญญาลับระหว่างไทยกับอังกฤษในพ.ศ. 2440 (ค.ศ. 1897)ที่ส่งผลให้อุปทูตอังกฤษสามารถเข้ามาควบคุมการให้อาชญาบัตรในการตรวจแร่ และประทานบัตรในการทำเหมืองแร่ของไทย แต่อย่างไรก็ตามในช่วงนี้มีชาวตะวันตกเพียงจำนวนน้อยที่เข้ามาลงทุนทำเหมืองได้แก่ มิสเตอร์แมลคัม ดันแคน ( Mr. Malcolm Duncan) และมิสเตอร์เฮนรี ยี. สก๊อต (Mr. Henry G. Scott) ที่เหลือจากนั้นเป็นการเข้ามาเพื่อขออาชญาบัตรตรวจแร่ทั้งสิ้น
ช่วงที่สองระหว่างพ.ศ. 2450-2474 (ค.ศ. 1907-1931) เป็นช่วงภายหลังจากที่บริษัททุ่งคา ฮาเบอร์ ทิน เดรดยิง (Tougkah Habour Tin Dredging Company) ภายใต้การนำของกัปตันเอ็ดวาร์ด ที. ไมลส์ (Captain Edward T. Miles) ประสบความสำเร็จในการนำเอาเทคนิคเหมืองเรือขุดที่สามารถขุดแร่ได้ทั้งในน้ำ และบนบก ขุดได้ลึกกว่าการใช้แรงงานคน มีเครื่องล้าง และเครื่องร่อนแร่ภายในตัวโดยไม่ต้องอาศัยแรงงานคน ผลผลิตที่ได้ต่อพื้นที่มีปริมาณสูงประกอบกับในช่วงนี้ชาวตะวันตกได้เริ่มใช้วิธีการจัดหาแหล่งเงินทุนที่มีประสิทธิภาพ โดยการร่วมลงทุน หรือร่วมหุ้นจัดตั้งบริษัททำเหมืองในลักษณะที่เรียกว่า “Managing – Agency System” โดยแต่ละบริษัทอยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มนักลงทุนที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทั่วโลก ประกอบในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 ราคาดีบุกของตลาดโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น จากปัจจัยต่าง ๆ ดังกล่าวได้กระตุ้นให้บริษัทของชาวตะวันตกเข้ามาลงทุนทำเหมืองในเมืองภูเก็ตเพิ่มมากขึ้น และค่อย ๆ ขยายการลงทุนไปยังเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง อันได้แก่ เมืองระนอง ตะกั่วป่า ตรัง และพังงา ดังในกรณีตัวอย่างบริษัทไซมิส ทิน ซินดิเกต ลิมิเต็ด (SiameseTin Syndicate Limited) ได้เริ่มลงทุนทำเหมืองเรือขุดครั้งแรกที่เมืองภูเก็ต ในพ.ศ. 2453 (ค.ศ. 1910) จนประสบความสำเร็จจึงเริ่มขยายกิจการทำเหมืองเรือขุดไปยังเมืองระนอง และตะกั่วป่าในพ.ศ. 2454 (ค.ศ. 1911) และพ.ศ. 2462 (ค.ศ. 1919) ตามลำดับ
ส่วนกิจการซื้อขายแร่ดีบุก ชาวตะวันตกที่เข้ามาในช่วงแรกยังไม่ได้เข้ามามีบทบาทในกิจการซื้อขายแร่ดีบุก จนกระทั่งต่อมาภายหลังจากที่ไทยได้ทำอนุสัญญาลับกับอังกฤษ ในพ.ศ. 2440 ได้ส่งผลให้อังกฤษมีส่วนเข้ามาควบคุมการให้ประทานบัตรทำเหมืองแร่ดีบุกของภาคใต้แล้วรัฐบาลไทยได้ยินยอมให้บริษัทสเตรทส์ เทรดดิง บริษัทของคนในบังคับอังกฤษที่มีสำนักงานสาขาอยู่ที่ปีนัง และสิงคโปร์เข้ามาตั้งสาขาบริษัทรับซื้อแร่ดีบุกในมณฑลภูเก็ตได้อย่างเสรี ในพ.ศ. 2449 โดยบริษัทได้ใช้วิธีการทดรองจ่ายเงินให้แก่นายเหมืองล่วงหน้า และใช้เงินกู้ด้วยแร่ดีบุกวิธีการเช่นนี้มีผลทำให้บริษัทผูกขาดซื้อขายแร่ดีบุกได้ทั่วมณฑลภูเก็ต จนต่อมาในพ.ศ. 2450 บริษัทชาวจีนภายใต้การนำของตระกูล ณ ระนองได้ร่วมลงทุนกับหุ้นส่วนชาวจีนในปีนัง จัดตั้งบริษัทอิสเทิร์น สเมลติ้ง ขึ้นมาทำการแข่งขันรับซื้อแร่ดีบุกกับบริษัทของชาวอังกฤษ แต่ไม่ประสบความสำเร็จจึงขายกิจการให้กับเซอร์ เออร์เนสท์ วูดฟอร์ด บริช ( Sir Ernest Woodford Birch) นักลงทุนชาวอังกฤษ ในพ.ศ. 2454 (ค.ศ. 1911) ซึ่งนำไปสู่การเข้ามาผูกขาดการซื้อขายแร่ดีบุกของชาวตะวันตกได้อย่างเต็มที่
กล่าวโดยสรุปว่า การขยายตัวของกิจการเหมืองแร่ดีบุกในภูเก็ตได้นำมาซึ่งความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมาสู่ภาคใต้ของไทย และส่งผลให้ดีบุกกลายเป็นสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกมากเป็นอันดับที่สองรองจากข้าว แต่ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ตกอยู่ภายใต้การครอบครองของนายทุนเอกชนต่างชาติทั้งชาวจีน และชาวตะวันตก อีกทั้งการขยายตัวของการส่งออกเป็นการส่งออกในรูปของสินแร่ไปยังบริษัทถลุงแร่ของอังกฤษในปีนัง และสิงคโปร์ โดยไม่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้ดีบุกเป็นวัตถุดิบในไทยเลย