ก่อนการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง พุทธศักราช 2398 การค้ากับต่างประเทศของสยามจะดำเนินการ หรือควบคุมดูแลโดยพระมหากษัตริย์พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนางชั้นสูง และพ่อค้าชาวจีน เท่าที่มีหลักฐานปรากฏ บริษัทตะวันตกบริษัทเดียวที่ได้รับอนุญาตให้มาดำเนินกิจการนำเข้า-ส่งออกในสยามคือบริษัท ฮันเตอร์ และเฮยส์ (Hunter and Hayes) ซึ่งเปิดกิจการเมื่อพ.ศ. 2368 แต่ก็ปิดกิจการลงอย่างรวดเร็ว จากนั้นมา ก็มิได้มีห้างร้านของชาวตะวันตกในสยามอีกจนกระทั่งบริษัทบอร์เนียว (Borneo Company) เข้ามาเปิดกิจการใน พ.ศ. 2399 หลังจากนี้ไม่นานจำนวนนักลงทุน และผู้ประกอบการชาวตะวันตกจะเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ ในพ.ศ. 2403 หรือหลังจากการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง 5 ปี มีบริษัทขนาดใหญ่ของชาวตะวันตกมาเปิดทำการค้าขาย และกิจการอื่นๆ ในกรุงเทพฯ รวมทั้งสิ้น 11 แห่ง เป็นของชาวอังกฤษ 5 แห่ง ชาวอเมริกัน 3 แห่ง ชาวเยอรมัน 2 แห่ง และชาวฝรั่งเศส 1 แห่ง อีกประมาณ 50 ปีต่อมาเราพบว่าในจำนวนบริษัท ห้างร้าน และกิจการขนาดใหญ่82 แห่งในกรุงเทพฯ 61 แห่งเป็นของชาวตะวันตก เท่ากับประมาณเกือบ 3 ใน 4 ของกิจการทั้งหมด
นักลงทุน และผู้ประกอบการชาวตะวันตกที่เข้ามายังสยามแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่มได้แก่ กลุ่มพ่อค้า กลุ่มผู้ประกอบกิจการธนาคาร กลุ่มผู้ทำการผลิตสินค้าส่งออก เช่นทำเหมืองแร่ ป่าไม้ และกลุ่มวิศวกร หรือผู้ชำนาญการที่รัฐบาลสยามว่าจ้าง กลุ่มสุดท้ายนี้มักจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนให้กับบริษัทที่ได้รับสัมปทานจากหลวง ในกิจการอย่างเช่นการสร้างทางรถไฟ เป็นต้น ใน 4 กลุ่มนี้ กลุ่มพ่อค้ามีความสำคัญที่สุดเพราะไม่เพียงแต่มีจำนวนมากที่สุด แต่ยังเป็นผู้ที่มีส่วนผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำการค้าภายในประเทศ และมีบทบาทในการขยายตลาดการค้าต่างประเทศ และการลงทุนให้กับสยาม
โครงสร้างการค้าภายในประเทศของสยามหลังการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงมีองค์ประกอบหลักอยู่ 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ทำการค้านำเข้า-ส่งออกส่วนที่ทำการค้าแบบขายส่ง และขายปลีก และส่วนที่ทำการค้าในระดับท้องถิ่นซึ่งติดต่อกับราษฎรผู้ผลิต-ผู้บริโภค หากลองจินตนาการลักษณะที่การค้าดำเนินไปในแต่ละวันในกรุงเทพฯ ในสมัยรัชกาลที่ 6 จะพบว่า ในวันหนึ่งๆ เรือสินค้าจะนำสินค้าขาเข้าจากที่ต่างๆ ทั่วโลกมาลงที่ท่าเรือแถบถนนทรงวาด พร้อมกับนำสินค้าออกเช่นข้าว หรือ น้ำตาลกลับไป สินค้าเข้าที่นำมาลงจะถูกเก็บไว้ที่โกดังสินค้าจนกระทั่งผู้สั่งซื้อมารับไป ส่วนหนึ่งจะถูกส่งต่อไปยังห้างร้านใหญ่ๆ ของชาวตะวันตก ที่เหลือจะมีพ่อค้าที่ทำหน้าที่ขายส่ง และปลีกที่เราพบเห็นได้ตามบริเวณทรงวาด สำเพ็ง เยาวราช ทำการแกะหีบห่อ จัดสินค้าต่างๆ ปนกันเพื่อส่งให้กับผู้ค้ารายย่อยต่อไป พ่อค้าปลีกเหล่านี้ก็จะนำสินค้าไปขายต่อตามห้างร้านเล็กๆ ในกรุงเทพฯ หรือทำการขนส่งสินค้าออกไปสู่จังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้านต่างๆ เพื่อขาย หรือแลกเปลี่ยนกับผลผลิตของชาวนา-ชาวไร่ ซึ่งจะถูกรวบรวมกลับออกมาตามเส้นทางเดิมมาเป็นสินค้าออกอีกครั้ง ภายใต้โครงสร้างการค้าแบบนี้ พ่อค้าชาวตะวันตกมีบทบาทสำคัญในการนำเข้า-ส่งออก และการขายสินค้าในเมืองหลวง ส่วนการขายส่ง และขายปลีก รวมถึงการนำสินค้าไปขายในท้องถิ่นต่างๆ มักจะตกเป็นหน้าที่ของพ่อค้าชาวจีน และชาวไทย
นอกจากบทบาททางด้านการค้า กิจการอีกอย่างหนึ่งที่ชาวตะวันตกสามารถเข้าควบคุมได้คือ การเดินเรือ ในสมัยที่การขนส่งสินค้าทำโดยเรือสำเภาที่ใช้ใบ กิจการเดินเรือในสยามจะอยู่ในมือของ พระมหากษัตริย์ เชื้อพระวงศ์ ตระกูลขุนนางที่มีอิทธิพล เช่นตระกูลบุนนาค และพ่อค้าชาวจีน ต่อมาเมื่อเรือสำเภาเหล่านี้ถูกแทนที่ด้วยเรือกลจักรไอน้ำ ความสามารถในการแข่งขันด้านการเดินเรือของเจ้าของเรือชาวไทย และจีนก็จะลดลงอย่างรวดเร็ว ดังจะเห็นได้ว่าในพ.ศ. 2405 หรือหลังจากการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงเพียง 7 ปี จำนวนเรือสินค้าที่ดำเนินกิจการโดยชาวไทย และจีนจะลดลงเหลือเพียง 36% ของจำนวนเรือสินค้าทั้งหมดที่เข้ามายังท่าเรือของกรุงเทพฯในแต่ละปี และระหว่างพ.ศ. 2413 มาจนถึงสงครามโลกครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2457) จำนวนเรือเดินสมุทร และเรือขนส่งสินค้าระยะใกล้ที่ทำการค้าขายที่กรุงเทพฯ ที่เป็นของบริษัทเดินเรือตะวันตกจะอยู่ระหว่าง 70% ถึง 90% ของเรือทั้งหมด
ความสำเร็จของกิจการเดินเรือของชาวตะวันตกไม่ได้เกิดจากการที่เป็นเจ้าของเรือเดินสมุทรที่ทันสมัยเท่านั้นแต่ยังเกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทสายการเดินเรือกับบริษัทการค้าใหญ่ๆที่ทำหน้าที่นำเข้า-ส่งออก และเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าจากต่างประเทศ โดยที่ฝ่ายหลังมักจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนให้กับสายการเดินเรือที่สำคัญๆ อีกด้วย ในระยะแรก สายการเดินเรือที่มีบทบาทสูงเป็นของอังกฤษ เช่น Peninsular and Oriental (P 'n O), Blue Funnel Line และที่ประสบความสำเร็จมากได้แก่ Alfred Holt 'n Company ซึ่งเดินเรือค้าข้าว และขนส่งแรงงานผู้อพยพชาวจีนระหว่างกรุงเทพฯ สิงคโปร์ และจีน ระหว่างพ.ศ. 2443-2447 60% ของข้าวที่ถูกส่งไปขายยังสิงคโปร์ และ 55% ของข้าวที่ถูกส่งไปขายยังประเทศจีนจะไปโดยเรือของบริษัทนี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 กลุ่มสายการเดินเรือของเยอรมัน นำโดยNorth German Lloyd Steamship Co. Ltd สามารถเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งของตลาดไปจากชาวอังกฤษได้สำเร็จ ภายใต้การแข่งขันที่สูงเช่นนี้ ชาวไทย และพ่อค้าจีนในไทยประสบกับความยากลำบากที่จะดำเนินกิจการเดินเรือแม้ว่าจะมีการร่วมลงทุนกันหลายครั้ง เช่น บริษัทเรือไฟไทยทุน จำกัด (Siam Steamship Navigation Company) ของไทย-เดนมาร์ก และบริษัทเรือเรือเมล์จีนสยามลงทุนจำกัด (Chino-SiamSteam Navigation Ltd) เป็นต้น กิจการของบริษัทเหล่านี้จะจำกัดอยู่ที่การเดินเรือเลียบชายฝั่ง และภายในภูมิภาคเอเชีย และประสบปัญหาขาดทุนบ่อยครั้ง
นอกจากความสัมพันธ์ระหว่างการค้ากับการเดินเรือชุมชนการค้าตะวันตกยังมีความสัมพันธ์กับระบบการผลิตของสยาม บทบาทสำคัญอีกอย่างหนึ่งของกลุ่มบริษัทการค้าขนาดใหญ่ของตะวันตกคือเป็นตัวแทน หรือผู้จัดการให้กับกลุ่มผู้ลงทุนทำการผลิตสินค้าส่งออก เช่น โรงสีข้าวของชาวตะวันตก เหมืองแร่ และบริษัทที่ทำป่าไม้ เป็นต้น พ่อค้าที่ทำหน้าที่เช่นนี้จะได้ค่าตอบแทน หรือค่าคอมมิชชั่น (commission agent) และการดำเนินของบริษัทการค้าจะรู้จักกันในนามของ “ระบบเอเจนซี่ในการจัดการ” (Managing Agency System) ความสัมพันธ์ระหว่างการค้า และการผลิตเช่นนี้เองที่ทำให้ทุนตะวันตกแทรกซึมเข้าสู่การผลิตสินค้าเพื่อส่งออกของสยาม
ลักษณะเด่นของผู้ประกอบการตะวันตกในสยามช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทการค้าขนาดใหญ่จึงได้แก่การทำธุรกิจแบบครบวงจร ทั้งการค้านำเข้า-ส่งออก ตัวแทนจำหน่ายสินค้า การผลิตสินค้าส่งออก และการเดินเรือ เพื่อให้เห็นชัดเจน เราอาจยกตัวอย่างการทำงานของบริษัทบอร์เนียว ซึ่งเป็นบริษัทการค้าที่เก่าแก่ที่สุดในสยาม บริษัทบอร์เนียวได้รับการก่อตั้งขึ้นที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในพ.ศ. 2399 โดย เซอร์ เจมส์ บรู๊ค (Sir James Brooke) และ โรเบิร์ต แมคเอเวน (Robert McEwan) บริษัทนี้เข้ามาเปิดสาขาที่กรุงเทพฯ ในปีเดียวกันโดยจุดมุ่งหมายในระยะแรกคือการค้าพริกไทยของจันทบุรีไปยังยุโรป หลังพ.ศ. 2408 บริษัทเริ่มเปลี่ยนมาเน้นการค้าข้าว และร่วมเข้าหุ้นกับบริษัทโรงสีข้าว (Bangkok Rill Mill Co. Ltd) จากนั้นก็ได้เปิดโรงเลื่อยไม้ขึ้นในพ.ศ. 2413 เพื่อเข้ามีส่วนร่วมในกิจการส่งออกไม้สัก
นอกจากกิจการที่ก่อตั้งเองแล้ว ในช่วงสองทศวรรษแรกที่เข้ามาดำเนินกิจการในสยาม บริษัทบอร์เนียวยังทำหน้าที่เป็นเอเยนต์ หรือตัวแทนให้กับธนาคาร บริษัทประกันภัย และสายการเดินเรือ 2 สายคือ China Mutual Navigation Co. Ltd และ Peninsular and Oriental Co. ภายในปีพ.ศ. 2413 บริษัทบอร์เนียวได้ขยายสาขาไปที่สิงคโปร์ กัลกัตตา ปัตตาเวีย ซาราวัก ฮ่องกง และเซี่ยงไฮ้ และเมื่อถึงพ.ศ. 2463 หรือช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 บริษัทบอร์เนียวก็ได้กลายเป็นบริษัทการค้าที่ใหญ่ที่สุดในสยาม ทำการส่งออกข้าว และไม้สักไปยังประเทศต่างๆ ในเอเชีย และนำเข้าผ้า เบียร์ ไวน์ กระสอบ และสบู่จากยุโรป และอาณานิคมของอังกฤษในเอเชีย เป็นตัวแทนให้กับบริษัทที่ดูแลท่าเรือ และโกดังสินค้าที่ท่าเรือ และเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าให้กับบริษัทตะวันตกอีกไม่ต่ำกว่า 120 แห่ง ซึ่งรวมถึงธนาคาร 1 แห่ง บริษัทเดินเรือ 17 แห่ง บริษัทประกันภัย 60 แห่ง และบริษัทวิศวกร 17 แห่ง และเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าแต่ผู้เดียวในสยามให้กับสินค้าจากยุโรป และอเมริกาถึง 26 ชนิด
บริษัทบอร์เนียวเป็นหนึ่งในจำนวนห้างร้านขนาดใหญ่ของชาวตะวันตกที่เข้ามาดำเนินกิจการในลักษณะเดียวกันในสยาม บริษัทอื่นที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก ได้แก่ ดีสแฮล์ม [ Diethelm (1872)], เบอรี่ยุกเกอร์ [Berli-Jucker (1882)], บอมเบย์เบอร์มา [Bombay Burmah Trading Corporation (1887)], อีสต์เอเชียติก [East Asiatic Company (1897)] และ แองโกล-สยาม [The Anglo-Siam Corporation (1900)] เป็นต้น
แม้ว่าการปรากฏตัวของทุน และผู้ประกอบการตะวันตกจะเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดตั้งแต่หลังการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงเป็นต้นมา และชาวตะวันตกได้นำนวัตกรรมหลายอย่างมาเบิกทางเข้าสู่เศรษฐกิจของสยาม เช่น ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ระบบตัวแทนจำหน่าย ธนาคาร การประกันภัย วิศวกร และเรือเดินสมุทร เป็นต้น แต่ในภาพรวม อิทธิพล และเครือข่ายทางเศรษฐกิจของชาวตะวันตกก็มิได้แน่นหนา และลุ่มลึกเหมือนกับที่เกิดในประเทศเพื่อนบ้านที่ตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก ในปี พ.ศ. 2457 เงินลงทุนของชาวตะวันตกในสยามตกอยู่ประมาณ 65 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งเท่ากับครึ่งเดียวของเงินลงทุนในอินโดจีนของฝรั่งเศส หนึ่งในสามของเงินลงทุนในมลายาของอังกฤษ และหนึ่งในสิบของเงินลงทุนในเนเธอร์แลนด์ อีส อินดีส์ของดัตช์ สาเหตุสำคัญมาจากการที่สยามมิได้ตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก การขาดอำนาจทางการเมืองทำให้นายทุน และผู้ประกอบการชาวตะวันตกไม่สามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจของสยามให้เป็นไปตามความต้องการได้อย่างเต็มที่ เช่นไม่มีระบบภาษีอากรที่จะกระตุ้นการลงทุน ไม่มีการออกกฎหมายแรงงานที่จะช่วยในการนำแรงงานจากการเพาะปลูกข้าวมาสู่การทำไร่ เป็นต้น อิทธิพลทางเศรษฐกิจของชาวตะวันตกจึงค่อนข้างจำกัดอยู่ในบริเวณเมืองหลวงเป็นสำคัญ