สารบัญ
บางกอกรีคอร์เดอร์ : หนังสือพิมพ์ฉบับแรกของไทย

บางกอกรีคอร์เดอร์ หรือชื่อจ่าหัวว่า หนังสือจดหมายเหตุฯ The Bangkok Recorder เป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของไทย ออกเผยแพร่ฉบับปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2387 หรือค.ศ. 1844 ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ซึ่งตรงกับวันชาติของสหรัฐอเมริกาปีที่ 68 ผู้จัดพิมพ์คือคณะหมอสอนศาสนาชาวอเมริกัน หรือพวกมิชชันนารีที่เข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนต์ มีนายแพทย์แดน บีช บรัดเล (Dan Beach Bradley) เป็นบรรณาธิการผู้หนึ่ง

บางกอกรีคอร์เดอร์ นับเป็นสิ่งตีพิมพ์ที่มีความสำคัญอย่างมากต่อประวัติศาสตร์การพิมพ์ของไทย นอกจากจะได้ชื่อว่าเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของไทยแล้ว บางกอกรีคอร์เดอร์ยังเป็นหนังสือที่พิมพ์ด้วยอักษรไทยที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดที่ตีพิมพ์ในประเทศไทยที่เหลือหลักฐานให้เป็นที่ประจักษ์ ก่อนหน้านี้ปรากฏว่าพวกบาทหลวงกลุ่มหนึ่งเคยจัดตั้งโรงพิมพ์แถววัดซานตาครูส ตำบลกุฎีจีน ฝั่งธนบุรี และพิมพ์หนังสือชื่อว่า KHÂM-SÓN CHRISTANG (สะกดด้วยอักษรโรมันแต่อ่านออกเสียงเป็นภาษาไทยว่า คำสอนคริสตัง ) มาแล้วในพ.ศ. 2339 ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ด้วยเวลานั้นยังไม่มีใครคิดประดิษฐ์ตัวพิมพ์อักษรไทยสำหรับใช้พิมพ์กับเครื่องพิมพ์ หนังสือเล่มดังกล่าวจึงต้องพิมพ์โดยใช้ตัวโรมัน หรืออังกฤษสะกดตามเสียงคำไทย และอ่านออกเสียงเป็นภาษาไทยแทน (เหมือนชื่อบุคคลที่เขียนสะกดด้วยตัวอักษรอังกฤษแต่อ่านออกเสียงเป็นภาษาไทย) ดังนั้นถ้าเราคิดว่าหนังสือภาษาไทยควรพิมพ์ด้วยอักษรไทยจริง ๆ แล้ว หนังสือ KHÂM-SÓN CHRISTANG จึงไม่จัดเป็นหนังสือภาษาไทยที่เก่าแก่ที่สุด แต่จะมีความสำคัญ หรือคุณค่าเป็นหนังสือที่พิมพ์ในประเทศไทยด้วยเครื่องพิมพ์ที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ของโลกตะวันตกที่มีอายุมากที่สุดมากกว่า และในพ.ศ. 2378มีการพิมพ์หนังสือบัญญัติ 10 ประการด้วยตัวพิมพ์ภาษาไทย แต่ไม่พบหลักฐานที่เหลืออยู่

หนังสือพิมพ์ บางกอกรีคอร์เดอร์ แตกต่างไปจากหนังสือพิมพ์รายวัน หรือรายสัปดาห์ในปัจจุบันมาก เริ่มต้นจากมีขนาดเล็กกว่า กล่าวคือมีความกว้าง 23 1/5 ซม. และยาว 27 1/2 ซม. (หนังสือพิมพ์ปรกติในปัจจุบันมีขนาดความกว้าง 39 ซม. และยาว 55 1/2 ซม.) มีลักษณะเป็นหนังสือพิมพ์ขนาดสั้น หรือที่เรียกในสมัยนั้นว่า หนังสือจดหมายเหตุ ฯ ออกจำหน่ายเป็น รายเดือน เดือนละ 1 ฉบับ ทุกวันพฤหัสบดีแรกของเดือน แต่ก็ไม่ได้เรียกเป็นฉบับ กลับเรียกว่าเป็น ‘ใบ’ หรือ ‘แผ่น’ แต่ละใบ (ฉบับ) ก็มีเพียง 4 หน้าเท่านั้น การเรียงเลขหน้าก็จะเรียงต่อกันทุกใบ (ฉบับ) จนครบ 1 ปี และเมื่อเริ่มปีที่ 2 ก็เริ่มเรียงหน้าใหม่ เป็นหน้า 1 2 3 ... ใหม่ อีกครั้ง บางกอกรีคอร์เดอร์ ที่ออกในปีที่ 1 เรียกว่า เล่ม 1 ส่วนที่ออกในปีที่ 2 เรียกว่าเล่ม 2 ดังนั้นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของไทยจึงมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า“หนังสือจดหมายเหตุ ฯบางกอกรีคอร์เดอร์ เล่ม 1 ใบ 1”

สำนักพิมพ์ของ บางกอกรีคอร์เดอร์ ตั้งอยู่ที่บ้านพวกมิชชันนารีอเมริกันที่หน้าวัด “เจ้าคุณพระคลัง” (ดิศ บุนนาค) ริมคลองหน้าวัดประยุรวงศ์ ฯ เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า ฯ ในหน้าแรกของหนังสือพิมพ์เล่ม 1 ใบ 1 ได้แจ้งวัตถุประสงค์ของการจัดพิมพ์ไว้อย่างชัดเจนคือเสนอข่าวในประเทศต่าง ๆ ทั้งใกล้ และไกล ราคาสินค้าใน ‘เมืองนอก’ ตำรารักษาโรคต่าง ๆ ตลอดจนความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ ภาษา และสำนวนอังกฤษ ฯลฯ ตัวหนังสือพิมพ์ก็มีลักษณะเป็นตัวเขียนที่นิยมเขียนในสมัยนั้น บทความ หรือสารคดีที่น่าสนใจใน บางกอกรีคอร์เดอร์ใบ (ฉบับ) แรกนี้ได้แก่ ตำราไฟฟ้า ซึ่งให้ความรู้แก่ผู้อ่านเกี่ยวกับการเกิดฟ้าผ่า และวิธีป้องกันฟ้าผ่าที่ปฏิบัติกันในขณะนั้นทั้งในทวีปยุโรป และอเมริกา ดังนั้น บทความ หรือสารคดีดังกล่าวนี้อาจถือว่าเป็นบทความ หรือสารคดีตามแบบตะวันตกเรื่องแรกของไทยก็ว่าได้ และเรื่องราวต่าง ๆ ที่ปรากฏในเล่มเช่นการโฆษณา (ยาควินิน) ก็อนุโลมได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในไทยด้วย ส่วนตัวของหนังสือพิมพ์ที่ใช้เทคนิกการพิมพ์แทนการเขียนอักษรไทยด้วยมือก็เป็นของแปลกใหม่เช่นกันที่ทำให้คนบางคนอยากเห็น และสะสมว่าเป็นของแปลก และมีค่าด้วย

ส่วนราคาหนังสือนั้นคิดเป็นรายปี ปีละ 1 บาท หรือถ้าจะซื้อเป็นใบก็ตกใบละ 1 เฟื้อง(2 เฟื้อง = 1 สลึง) ซึ่งนับว่าราคาแพงมากเมื่อเทียบกับค่าของเงินในสนมัยรัชกาลที่ 3 แต่การจ่ายเงินซื้อนั้นจะให้เมื่อไรก็ได้ “แผ่นที่หนึ่งก็ได้ จะให้เมื่อถึงแผ่นที่หกก็ได้ ตามแต่ใจผู้ซื้อ” อย่างไรก็ดี แม้จะมีการ “ตามแต่ใจผู้ซื้อ” มากถึงขนาดนั้น ก็ยังปรากฏว่ามีผู้นิยมอ่านน้อยมาก เมื่อหนังสือพิมพ์จำหน่ายขึ้นปีที่ 2 หมอบรัดเลพยายามชักจูงใจผู้อ่านมากยิ่งขึ้นโดยประกาศลดราคาหนังสือพิมพ์ จากปีละหนึ่งบาทเหลือแค่หนึ่งสลึงเท่านั้น แต่คนซื้อจะต้องจ่ายเงินสดทันทีที่ซื้อใบที่หนึ่ง สำหรับขุนนาง และพระสงฆ์ชั้นพระราชาคณะจะได้รับหนังสือโดยไม่ต้องจ่ายเงินซื้ออีกต่อไป

บางกอกรีคอร์เดอร์ ออกจำหน่ายได้ 16 ใบ (ฉบับ) ในเวลาแค่ 1 ปีกับ 4 เดือน ก็ต้องประสบกับปัญหาบางประการที่ทำให้ต้องปิดสำนักพิมพ์ไปในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2388 อย่างไรก็ดี แม้หนังสือจะมีอายุสั้น แต่ก็ช่วยขยายการรับรู้ข่าวสารของคนไทยให้ทราบถึงความเป็นไปของเหตุการณ์ต่าง ๆ ทั่วโลก รวมทั้งได้รับความรู้ทางด้านการแพทย์ การรักษาพยาบาล วิทยาศาสตร์ และอื่น ๆ การเสนอทั้ง “ข่าว” และ“ความรู้ใหม่ ๆ” ดังกล่าวนี้ได้ช่วยให้ชนชั้นผู้นำของไทยสามารถก้าวตามทันโลกตะวันตกในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เข้าสู่ยุคใหม่ที่อารยธรรม และวิชาการตะวันตกจะมีส่วนสำคัญในชีวิต และสังคมไทย

ในปีพ.ศ. 2407 ซึ่งตรงกับปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 สำนักพิมพ์ บางกอกรีคอร์เดอร์ ได้เปิดทำการใหม่อีกครั้ง หมอบรัดเลเป็นบรรณาธิการเช่นเดิม และในช่วงระยะเวลาไล่เลี่ยกันนี้ก็มีหนังสือพิมพ์ออกมาอีกหลายฉบับ เช่น สยามวีคลี่มอนิเตอร์ (พ.ศ. 2410) บางกอกเดลี่แอ็ดเวอร์ไทเซอร์ (พ.ศ. 2411) ในต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์รายวันฉบับแรกของสังคมไทย พิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ เผยแพร่วันละ 2 แผ่น (2 หน้า) มีลักษณะเป็นใบปลิว แจ้งความเกี่ยวกับการเดินเรือ การค้าทางทะเล และข้อความโฆษณาต่าง ๆ ต่อมาเพิ่มเป็น 4 หน้า และ ดรุโณวาท หนังสือพิมพ์ฉบับแรกของคนไทย (พ.ศ. 2417)เป็นต้น ซึ่งช่วยกระตุ้นในการรับรู้ของคนไทยให้กว้างขวางยิ่งขึ้น และมีผลต่อการริเริ่มวิทยาการแขนงต่าง ๆ แบบตะวันตกในสังคมไทยทั้งช่วยพัฒนาสังคมไทยให้มีความเจริญก้าวหน้า

คงเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ถ้าหากว่าเราจะหาหลักฐาน หรือตัวอย่างของ บางกอกรีคอร์ดเดอร์ สมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของเรามาศึกษาไม่ได้ และหลายคนก็เคยคิดเช่นนี้มาก่อน เพราะว่าไม่ว่าจะเป็นห้องสมุดเอกชน หอสมุดหน่วยงานใด ๆ หรือแม้แต่หอสมุดแห่งชาติก็ไม่เคยมีตัวอย่างของหนังสือฉบับดังกล่าวนี้หลงเหลือ ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะสภาพอากาศที่ร้อนชื้น และแมลง มด ปลวก มอดที่ชอบแทะกินกระดาษ ตลอดจนการขาดอุปนิสัยในการเก็บรักษาเอกสารอย่างมีระบบของเรา ที่มีเหลืออยู่บ้างก็เป็นบางฉบับของเล่มที่ออกเผยแพร่รุ่นหลังในสมัยรัชกาลที่ 4 เท่านั้น เรื่องราวเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของไทยจึงกลายเป็นเรื่องลี้ลับมาเป็นเวลานาน จนกระทั่งเมื่อปีพ.ศ. 2528 ที่ผ่านมานี้ ผู้สืบสกุลของมิสเตอร์แฮมิลตัน คิง อดีตอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มของสหรัฐอเมริกาประจำราชสำนักสยามระว่างพ.ศ. 2441-55 (ปลายรัชกาลที่ 5 ถึงต้นรัชกาลที่ 6) ได้ส่งมอบเอกสาร และของที่ระลึกส่วนตัวที่มิสเตอร์คิง และครอบครัวสะสมระหว่างที่พำนักในประเทศไทยเป็นเวลา 14 ปีดังกล่าวให้เป็นสมบัติของชาวไทย ในบรรดาเอกสาร และสิ่งของที่ตระกูลของท่านได้เก็บรักษาเป็นอย่างดีนั้นมีหนังสือจดหมายเหตุฯ The Bangkok Recorder ที่หมอบรัดเลพิมพ์เป็นครั้งแรกในพ.ศ. 2347-88 เย็บรวมเป็นเล่มรวม 14 ใบขาดไปเพียง 2 ใบ คือเล่ม 2 ใบที่ 14 และใบที่ 15 แต่ละใบที่เหลือซึ่งมีความเก่าแก่จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2553) กว่า 160 ปีก็อยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุด กระดาษบางแผ่นยังขาวสะอาดเหมือนใหม่ นับเป็นมรดกชิ้นสำคัญยิ่งชิ้นหนึ่งสำหรับคนไทย ที่ช่วยเปิดเผยความจริงต่างๆในอดีตให้เราทราบ และคงกล่าวได้ว่า หนังสือจดหมายเหตุฯ The Bangkok Recorder ชุดนี้เป็นชุดเดียวที่หลงเหลืออยู่ในโลก ผู้ที่สนใจคงขอดูได้จากหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี หรือ หนังสือจดหมายเหตุฯ The Bangkok Recorder (พิมพ์ตามต้นฉบับเดิม) ฉบับรัชกาลที่ 3 และ 4 รวมทุกฉบับที่ยังหลงเหลืออยู่ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พิมพ์พระราชทานในงานพระราชทานเพลิงศพนายสมหมาย ฮุนตระกูล ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2536

ดังนั้นการรู้จักหวงแหนในสมบัติของชาติ และการรู้จักเก็บรักษา และรู้ในคุณค่าของสิ่งของต่าง ๆ ที่อาจเป็นเพียงเศษกระดาษเพียงไม่กี่แผ่นในสายตาของคนอื่น แต่ก็อาจช่วยให้สามารถถ่ายทอดเรื่องราวในอดีตต่อไปยังอนุชนรุ่นหลังให้ได้ตื่นเต้นกับ “สีสันแห่งประวัติศาสตร์”ที่บรรพบุรุษของเราได้ร่วมกันสรรสร้างไว้ได้ไม่น้อยทีเดียว

หนังสืออ่านเพิ่มเติม
- สยามพิมพการ : ประวัติศาสตร์การพิมพ์ในประเทศไทย กรุงเทพฯ : มติชน, 2549.
- กำธร สถิรกุล. หนังสือ และการพิมพ์. (พระนคร : โรงพิมพ์คุรุสภา, 2515) ขจร สุขพานิช. ก้าวแรกของหนังสือพิมพ์ในประเทศไทย. (กรุงเทพฯ : คุรุสภา,2526) สุกัญญา ตีระวนิช. หมอบรัดเลกับการพิมพ์หนังสือพิมพ์แห่งกรุงสยาม. (กรุงเทพ : มติชน, 2528) อนันต์ชัย เลาหพันธุ. “ครั้งแรก / เก่าที่สุดในไทย.” ศิลปวัฒนธรรม 11,10 (สิงหาคม 2533) : 78-83.
- อนันต์ชัย เลาหพันธุ. “บางกอกรีคอร์เดอร์ฉบับรัชกาลที่ 3, พ.ศ.2387-88 : เอกสารที่ยังไม่สูญหาย.” ศิลปวัฒนธรรม 8 (กุมภาพันธ์ 2530) : 88-94.
๒๒
หน้า ๒๒ จาก ๒๒ หน้า