หนังสือพิมพ์รายวันเริ่มพิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรกในสมัยต้นรัชกาลที่ 5 และหนังสือพิมพ์รายวันเกือบทุกฉบับมีเจ้าของเป็นชาวต่างประเทศยกเว้นหนังสือพิมพ์รายวัน “จีนโนสยามวารศัพท์” (Chino-Siamese Daily News) ซึ่งพิมพ์ในปลายรัชกาลที่ 5 เท่านั้นที่มีเจ้าของเป็นคนไทย หนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษที่เผยแพร่มี Bangkok Daily Advertiser, Siam Daily Advertiser, The Bangkok Time, Siam Free Press, Siam Observer และ Chino-Siamese Daily News นอกจากนี้มีหนังสือพิมพ์ Court ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์รายวันฉบับแรกที่คนไทยเป็นเจ้าของจัดพิมพ์ใน พ.ศ.2418 โดยเสนอข่าวเรื่องราวต่างๆในแวดวงราชการ และข่าวความเคลื่อนไหวในพระราชสำนัก และพระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ 5 ต่อมาใน พ.ศ. 2419 มีการเปลี่ยนชื่อหัวหนังสือพิมพ์จาก Court เป็นภาษาไทยว่า “ข่าวราชการ”หนังสือพิมพ์รายวัน Court ออกเป็นรายวันจนถึงวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2419 จึงได้เปลี่ยนเป็นรายปักษ์ โดยตีพิมพ์เดือนละ 2 ฉบับแต่พิมพ์ได้ไม่นานก็เลิกไปในปี พ.ศ. 2419
Bangkok Daily Advertiser เป็นหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษฉบับแรกของไทยที่เริ่มพิมพ์เผยแพร่ เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2411โรงพิมพ์ของหมอบรัดเลเป็นผู้จัดพิมพ์โดยพิมพ์วันละ 1 แผ่น(2หน้า) มีลักษณะเป็นใบปลิว เสนอข่าวทั่วไปเกี่ยวกับการค้าทางทะเล การเดินเรือ และการลงโฆษณา เมื่อพิมพ์เผยแพร่ได้ระยะหนึ่งก็เพิ่มหน้าจาก 2 หน้า เป็น 4 หน้า และตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ และภาษาไทยควบคู่กันทั้งเพิ่มเนื้อหาข่าวให้กว้างขึ้นโดยเสนอข่าวสังคม ข่าวพิธีกรรมทางศาสนา และอื่นๆ อย่างไรก็ตามหนังสือพิมพ์รายวันฉบับนี้ก็เผยแพร่ได้ไม่ถึงปีก็ต้องหยุดพิมพ์
The Bangkok Time พิมพ์จำหน่ายในปี พ.ศ. 2430 ซึ่งหนังสือ Twentieth Century Impressions of Siam : Its History, People, Commerce, Industries, and Resources (พ.ศ. 2451) กล่าวว่าเป็นหนังสือพิมพ์ที่เก่าแก่ที่สุดของไทย และพิมพ์เผยแพร่เป็นจำนวนมากเพื่อเสนอข่าวให้ชาวต่างประเทศที่พักอาศัยในสยามได้อ่านกัน แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วหนังสือหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของไทยคือบางกอกรีคอร์เดอร์ ซึ่งพิมพ์จำหน่ายใน พ.ศ.2387 และหนังสือพิมพ์รายวันฉบับแรกคือ Bangkok Daily Advertiser ซึ่งพิมพ์เผยแพร่ในพ.ศ.2411 ถึงอย่างไรก็ตามเป็นที่เข้าใจกันว่า The Bangkok Time เป็นหนังสือพิมพ์รายวันที่มีอายุยืนยาวกว่า 50 ปี และคาดกันว่าเลิกพิมพ์จำหน่ายใน พ.ศ.2485 หนังสือพิมพ์ที่ออกจัดจำหน่ายในระยะแรกเริ่มนั้น หน้าแรกมักจะเป็นการโฆษณาสินค้าต่างๆ และตามด้วยเนื้อหาในข่าวในหน้าต่อไป
ในจำนวนหนังสือพิมพ์รายวันที่พิมพ์เผยแพร่นั้น Chino-Siamese Daily News ซึ่งมีทั้งฉบับภาษาจีน และภาษาไทยได้ชื่อว่าเป็นหนังสือพิมพ์รายวันของคนจีนที่มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์หนังสือพิมพ์ไทยมากที่สุด พิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 เมษายนพ.ศ.2450 เจ้าของ และบรรณาธิการคือนายเซียวฮุดเส็ง สีบุญเรืองได้จัดพิมพ์หนังสือพิมพ์รายวันฉบับนี้เป็น 2 ภาษา ฉบับภาษาจีนชื่อว่าเสียนซินเป้า (ฮั่วเซียนชิงโป่) ส่วนฉบับภาษาไทยชื่อว่า จีนโนสยามวารศัพท์ ในการพิมพ์ระยะแรกตีพิมพ์เป็น 2 ภาษาในฉบับเดียวกันเป็นภาษาจีน 8 หน้า และภาษาไทย 4 หน้า แต่ต่อมาได้แยกหนังสือ พิมพ์ทั้ง 2 ฉบับออกจากกัน และเพิ่มหน้าในฉบับภาษาไทยอีก 4 หน้ารวมเป็น 8 หน้า ทำให้ทั้งฉบับภาษาจีน และภาษาไทยมีจำนวน 8 หน้าเท่ากัน (ภาพ น.297 ของ Twentieth Century Impressions ofSiam เป็นรูปถ่ายสำนักงานหนังสือพิมพ์จีนโนสยามวารศัพท์)
จีนโนสยามวารศัพท์ที่เป็นฉบับภาษาไทยในระยะแรกเมื่อออกครบ 1 ปีก็จะนำมาเย็บรวมเข้าเป็นเล่ม หลังจากพิมพ์เผยแพร่ได้ 4 ปีก็เปลี่ยนหน้ากระดาษจากเดิมซึ่งหน้าหนึ่งๆ กว้าง 18 นิ้ว ยาว 24 นิ้ว ให้มีขนาดเล็กลง และเพิ่มจำนวนหน้าเป็น 8 หน้า และเพิ่มพิเศษอีก 4 หน้า รวมเป็น 12 หน้า เพื่อให้เหมาะกับการเย็บรวมเล่ม และให้มีขนาดกะทัดรัดมากขึ้น แต่ต่อมาก็กลับมาพิมพ์เป็นขนาดเดิมอีก จีนโนสยามวารศัพท์ยุติการจัดพิมพ์ลงเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ.2466 ส่วนฉบับภาษาจีนปิดตัวลงเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2468 รัฐบาลไทยได้ให้เงินสนับสนุนการจัดพิมพ์จีนโนสยามวารศัพท์ตั้งแต่ปีพ.ศ.2453เป็นเงินปีละ 4,000 บาท
Bangkok Daily Mail เป็นหนังสือพิมพ์รายวันที่เปลี่ยนชื่อมาจากหนังสือพิมพ์ Siam Free Press เดิมพิมพ์เผยแพร่ในพ.ศ.2451หนังสือพิมพ์รายวันฉบับนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ของหนังสือพิมพ์ไทย เพราะเริ่มการเสนอข่าวเป็นหน้าแรก และมีภาพประกอบข่าวตีพิมพ์ ตลอดจนมีการพาดหัวข่าวด้วยตัวพิมพ์ขนาดใหญ่สะดุดตาเพื่อกระตุ้นความสนใจ นอกจากฉบับภาษาอังกฤษแล้วก็มีฉบับภาษาไทยด้วยคือกรุงเทพฯเดลิเมล์ หนังสือพิมพ์กรุงเทพฯเดลิเมล์เป็นที่นิยมอ่านกันมาก เพราะเสนอข่าว และความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน และสังคม ในพ.ศ.2466 รัฐบาลได้ซื้อกิจการของกรุงเทพฯเดลิเมล์ เนื่องจากชาวอเมริกันซึ่งเป็นเจ้าของประสบภาวะขาดทุนจนต้องขายกิจการ กรุงเทพฯเดลิเมล์ เลิกกิจการลงใน พ.ศ.2476
ส่วนหนังสือพิมพ์รายวันฉบับภาษาไทยที่เจ้าของเป็นคนไทยคือหนังสือพิมพ์ไทย เริ่มพิมพ์จำหน่ายในพ.ศ.2450 แต่ภายในเวลาเพียง 2 ปีก็ประสบภาวะขาดทุน และมีหนี้สินจนหยุดกิจการเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2453 แต่รัฐบาลก็ซื้อกิจการไว้ทันที และพิมพ์เผยแพร่ต่อในวันรุ่งขึ้น หนังสือพิมพ์ไทยฉบับนี้ได้นำตราครุฑมาไว้ที่หน้าปกเพื่อทำให้น่าเชื่อถือมากขึ้น หนังสือพิมพ์ไทยได้ชื่อว่าเป็นหนังสือพิมพ์ของรัฐบาล เพราะมีการเสนอข่าว และความคิดเห็นของรัฐบาลอย่างสม่ำเสมอ ทั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงส่งบทความพระราชนิพนธ์ในพระนามแฝงมาตีพิมพ์หลายเรื่องด้วย