การปฏิรูปการศึกษาเป็นพระราชกรณียกิจที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงมองการณ์ไกล และต้องการให้ราษฎรของพระองค์เป็นผู้มีความรู้วิชาสมัยใหม่ เพื่อรับกับความเปลี่ยนแปลงของประเทศที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น
ก่อนที่จะเกิดการปฏิรูปการศึกษา การเล่าเรียนของเด็กชายไทยจะเริ่มต้นเมื่อโกนจุกแล้ว หรือก่อนหน้านั้นเล็กน้อย สถานที่ศึกษาวิชาความรู้ก็คือวัด พ่อแม่จะพาไปฝากตัวเป็นศิษย์วัด หรือไปบวชเพื่อเรียน โดยมีพระสงฆ์ที่มีความรู้เป็นผู้สอนวิชาการอ่าน การเขียน และการนับเลข ที่วัดเด็กๆ จะรับใช้พระสงฆ์ด้วยการเป็นฝีพาย หรือเป็นศิษย์วัด พระสงฆ์จะแบ่งอาหารให้ และสอนให้อ่านหนังสือไปวันละเล็กละน้อย เมื่อเล่าเรียนจนอ่านออกเขียนได้แล้วส่วนใหญ่ก็มักจะออกไปทำมาหากินตามบรรพบุรุษของตน ลูกชาวบ้านอาจจะไปเป็นพ่อค้า ชาวนา ชาวไร่ ลูกขุนนางก็มักจะได้ออกไปทำราชการตามตระกูลของตน
ส่วนเด็กผู้หญิงในสมัยก่อนแทบจะไม่มีโอกาสเล่าเรียนอ่านเขียนเช่นเด็กผู้ชาย เพราะจะไปเรียนในวัดปะปนกับเด็กผู้ชายไม่ได้ จึงมีเพียงบุตรีของเจ้านาย และขุนนางชั้นสูงเท่านั้นที่จะได้ศึกษาเล่าเรียนอยู่ในวัง หรือบ้านของตน เด็กหญิงจะต้องรู้จักงานการเรือน การครัว ทำขนม มวนบุหรี่ และจีบพลู สังฆราชปาลเลกัวซ์ที่เข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนาในประเทศสยามในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวบันทึกไว้ว่ามีเด็กผู้หญิงน้อยคนนักที่จะรู้จักการเย็บปักถักร้อย เพราะส่วนใหญ่ชาวไทยนุ่งผ้าผืนเดียวไม่ได้ผ่านการตัดเย็บ
นอกจากวัดก็ยังมีการเรียนในโรงเรียน แต่หลักฐานเกี่ยวกับการตั้งโรงเรียนเพื่อเป็นที่ศึกษาวิชาความรู้ในสมัยอยุธยาคงสูญหายไป ที่หลงเหลืออยู่เท่าที่สืบค้นได้คือหลักฐานสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ทรงอนุญาตให้คณะมิชชันนารีที่มาเผยแผ่คริสต์ศาสนาตั้งโรงเรียนเพื่อสอนวิชาความรู้ และเผยแผ่คริสต์ศาสนาขึ้น อาทิ โรงเรียนศรีอยุธยา โรงเรียนมหาพราหมณ์ วิทยาลัยคอน สแตนติน โรงเรียนสามเณร และวิทยาลัยแห่งชาติ อย่างไรก็ดี มีการกล่าวถึง “โรงเรียนอื่นๆ ของบ้านเมือง” เช่นกันแต่ไม่พบหลักฐานว่าชื่ออะไร และเป็นของใคร นอกจากนี้ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชยังมีการส่งนักเรียนไปเรียนยังประเทศฝรั่งเศสด้วยรวมทั้งสิ้น 21 คน แต่ไม่ปรากฏว่าได้กลับมาทำราชการ หรือนำความรู้ และประสบการณ์มาใช้อย่างไรบ้าง
ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนี้เองที่ได้มีหนังสือแบบเรียนภาษาไทยเล่มแรกเกิดขึ้น คือ หนังสือจินดามณี แต่งโดยพระโหราธิบดีซึ่งใช้สืบมาจนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)เมื่อครั้งยังเป็นหลวงสารประเสริฐ ปลัดกรมพระอาลักษณ์เรียบเรียงหนังสือเรียนขึ้นใหม่ 1 ชุดประกอบด้วยหนังสือ 6 เล่มคือ มูลบทบรรพกิจวาหนิตินิกร อักษรประโยค สังโยคพิธาน ไวพจน์พิจารณ์ และพิศาลการันต์ เป็นแบบเรียนเพื่อใช้แทนหนังสือจินดามณีเมื่อ พ.ศ. 2414
ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีการใช้หนังสืออื่นเรียนด้วยเป็นลำดับขั้นไป หลักฐานเท่าที่พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษณ์)สืบค้นได้พบว่ามี 5 เล่มคือ หนังสือประถม ก กา หนังสือสุบินทกุมาร หนังสือประถมมาลา หนังสือประถมจินดามณี เล่ม 1 และหนังสือประถมจินดามณี เล่ม 2 ซึ่งแต่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หนังสือเหล่านี้ใช้เป็นหนังสือเรียนของเด็กชายทั่วไป สังฆราชปาลเลกัวซ์บันทึกไว้อย่างน่าสนใจว่าจากเด็กจำนวน 100 คนที่มาศึกษาในวัดเป็นเวลา 8-10 ปีนั้น มีเพียง 20 คนเท่านั้นที่อ่านหนังสือออก และมีเพียงประมาณ 10 คนเท่านั้นที่เขียนหนังสือได้
เมื่อมาถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สถานการณ์รอบบ้านเมืองของสยามกำลังตกอยู่ในช่วงเวลาแห่งจักรวรรดินิยม และการล่าอาณานิคม บ้านเมืองรอบสยามประเทศล้วนตกอยู่ในมือของมหาอำนาจคืออังกฤษ และฝรั่งเศส สยามจึงมีความจำเป็นต้องปรับตัว หรือปฏิรูปครั้งใหญ่เพื่อมิให้ต้องตกเป็นอาณานิคมดังเช่นดินแดนเพื่อนบ้านใกล้เคียง
การปรับตัวในสมัยนี้นอกจากการปฏิรูปการเงินการคลังการปฏิรูปการคมนาคม การปฏิรูปการปกครอง การริเริ่มปลดปล่อยทาส การตั้งสภาที่ปรึกษาส่วนพระองค์ และที่ปรึกษาราชการแผ่นดินแล้วยังมีการปฏิรูปการศึกษาด้วย ปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาในสมัยนี้คือ
ทั้ง 5 ประการนี้ล้วนเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาตามแบบสมัยใหม่ไปทั่วพระราชอาณาจักรทั้งสิ้น
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์นั้น ประเทศสยามกำลังถูกคุกคามจากลัทธิจักรวรรดินิยม พระองค์ทรงตระหนักถึงภัยร้ายแรงที่กำลังเกิดขึ้น เมื่อครองราชย์ครั้งแรกจึงเสด็จประพาสอาณานิคมของตะวันตกคือสิงคโปร์ ปัตตาเวีย และสมารัง เมื่อ พ.ศ. 2413 และเสด็จประพาสอินเดีย เมื่อ พ.ศ. 2414 พระองค์ทรงเห็นความสำคัญของการศึกษาแบบตะวันตก เพื่อให้ชาวไทยเข้าใจ และมีความรู้เช่นเดียวกับชาวตะวันตก และจะได้นำความรู้ และประสบการณ์มาใช้ในการพัฒนาประเทศ เมื่อทรงริเริ่มเลิกทาสพระองค์ทรงต้องการสร้าง และเตรียมให้ราษฎรของพระองค์มีวิชาความรู้เพื่อจะได้ประกอบอาชีพทำมาหากินต่อไปได้ นอกจากนั้นความต้องการผู้มีวิชาความรู้เพื่อมารับราชการก็เป็นสาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้ทรงสนับสนุนการศึกษา โดยเริ่มจากการส่งคนออกไปศึกษายังต่างประเทศ และการตั้งโรงเรียนเพื่อให้คนจำนวนมากได้เข้ามาศึกษาเล่าเรียน และด้วยการสนับสนุนของชาวตะวันตกที่เข้ามาค้าขาย และเผยแพร่ศาสนา อาทิ หมอบรัดเลที่ได้เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการตั้งมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เมื่อ พ.ศ. 2408 ถือเป็นผู้เผยแพร่แนวคิด และความรู้ให้แก่ชาวไทยคนหนึ่ง ยังมีศาสนาจารย์แมกฟาร์แลนด์ ผู้เสนอแผนการจัดตั้งวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ เพื่อให้การศึกษาแก่หนุ่มสาวของไทยจนทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยแนวคิดของท่าน และทรงจ้างศาสนาจารย์แมกฟาร์แลนด์มาเป็นผู้บริหารโรงเรียนที่ทรงเปิดที่วังนันทอุทยาน หรือโรงเรียนสวนอนันต์ เมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2421
การจัดการศึกษาในระยะแรกนั้นอยู่ภายใต้การดูแลของพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร (ต่อมาคือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ) โรงเรียนส่วนใหญ่ที่ตั้งขึ้นล้วนอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของพระองค์ซึ่งทรงเป็นผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็กอยู่ในขณะนั้น โรงเรียนจึงมาขึ้นกับกรมทหารหาดเล็กไปโดยปริยาย
ในเวลานั้นโรงเรียนที่ขึ้นกับกรมทหารมหาดเล็กคือ โรงเรียนหลวงสอนหนังสือไทยของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจาริยางกูร) หรือโรงเรียนสราญรมย์ ซึ่งเป็นโรงเรียนหลวงแห่งแรก ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2414 ต่อมาใน พ.ศ. 2425 มีการตั้งโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ หรือโรงเรียนนายทหารมหาดเล็ก โรงเรียนแผนที่โรงเรียนของพระเจ้าลูกยาเธอ 4 พระองค์คือพระองค์เจ้ากิติยาวรลักษณ์ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม และพระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช ที่ตั้งขึ้นสำหรับสอนภาษาอังกฤษ และโรงเรียนพระปริยัติธรรม โรงเรียนทั้ง5 โรงนี้ขึ้นกับกรมทหารมหาดเล็ก ส่วนโรงเรียนหลวงสอนภาษาอังกฤษนั้นตั้งได้เพียงไม่ถึง 5 ปีก็เลิกไป เพราะครูกลับประเทศจนกระทั่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศาสนาจารย์แมกฟาร์แลนด์เปิดโรงเรียนสวนอนันต์ขึ้นใหม่ใน พ.ศ. 2421 แต่โรงเรียนนี้ไม่ได้ขึ้นกับกรมทหารมหาดเล็ก
ในช่วง พ.ศ. 2428-2429 มีโรงเรียนทั้งสิ้น 35 โรง ในปี 2428 มีนักเรียน 2,044 คน และใน พ.ศ. 2429 มีนักเรียน 1,994 คนเหตุที่มีนักเรียนลดลงเพราะมีโรงเรียนบางแห่งปิดลงเนื่องจากไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร ปัญหาอุปสรรคของการจัดการศึกษาในระยะแรกก็คือการขาดแคลนครูผู้สอน และหนังสือตำราเรียนยังมีราคาแพงมากสำหรับผู้มีรายได้น้อย
ต่อมาใน พ.ศ. 2430 จึงทรงตั้งกรมศึกษาธิการขึ้น หน้าที่จัดการเกี่ยวกับการศึกษาในระบบโรงเรียน หรือตามแบบการศึกษาสมัยใหม่ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นดำรงราชานุภาพเป็นผู้บัญชาการกรมศึกษาธิการ และโปรดเกล้าฯ ให้โอนโรงเรียนที่ขึ้นอยู่กับกรมทหารมหาดเล็ก และโรงเรียนอื่นๆ ที่มีอยู่ในสมัยนั้นมาขึ้นกับกรมศึกษาธิการทั้งหมด ดังนั้นในระยะแรกจึงมีโรงเรียนชั้นสูงที่อยู่ในกรุงเทพฯ ในสังกัดกรมศึกษาธิการ 5 แห่งคือ โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ โรงเรียนมหาธาตุวิทยาลัย โรงเรียนสราญรมย์ โรงเรียนสุนันทาลัย(ย้ายจากวังนันทอุทยานมาอยู่ที่ซึ่งเป็นโรงเรียนราชินีในปัจจุบัน) และโรงเรียนแผนที่
ต่อมาอีกสองปี ในวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2432 จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้รวมกรมธรรมการ กรมสังฆการี กรมพยาบาล กรมพิพิธภัณฑสถาน และกรมศึกษาธิการเข้าด้วยกันตั้งเป็นกระทรวงธรรมการ (เป็นกระทรวงที่มีผู้บัญชาการสูงสุดเป็นอธิบดี ยังไม่ใช่เสนาบดี) โปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นดำรงราชานุภาพเป็นอธิบดีกระทรวงธรรมการ ต่อมาใน พ.ศ. 2433 กรมหมื่นดำรงราชานุภาพได้ทรงถวายหนังสือกราบบังคมทูลขอขยายการตั้งโรงเรียนออกไปตามหัวเมือง และขยายการศึกษาให้ทั้งเด็กชาย และเด็กหญิงได้เข้าเรียนในโรงเรียนได้ ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้สอดคล้องกับพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าเสียดายว่าโครงการนี้ไม่ได้นำไปปฏิบัติ เนื่องจากกรมหมื่นดำรงราชานุภาพต้องย้ายไปดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย และเสนาบดีกระทรวงธรรมการในเวลาต่อมาคือพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค ต่อมาคือเจ้าพระยาภาสกรวงศ์) ก็ไม่ได้นำโครงการนี้กลับมาปฏิบัติแต่อย่างใด และหลังจากนั้นสยามประเทศตกอยู่ภายใต้วิกฤตการณ์ รศ. 112 ทำให้สิ่งจำเป็นเร่งด่วนที่สุดสำหรับประเทศในเวลานั้นคือการป้องกันประเทศจากภัยจักรวรรดินิยม ดังนั้น งบประมาณจำนวนมากที่จะนำมาทุ่มเทให้กับการศึกษาจึงต้องระงับไปก่อน
ในช่วงแรกนี้กระรวงธรรมการได้จัดการวางหลักการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อผลิตนักเรียนให้โรงเรียนหลวงระดับสูง และโรงเรียนสังกัดกระทรวงต่างๆ ซึ่งนิยมเปิดขึ้นหลายแห่งแล้วในเวลานั้น กรมหมื่นดำรงราชานุภาพทรงจัดให้มีแบบเรียนขั้นพื้นฐานเป็นภาษาไทย โดยเปลี่ยนแปลงตำราสอนอ่านเขียนแบบเดิมคือมูลบทบรรพกิจมาเน้นวิธีการหาเหตุผลผ่านประสบการณ์ของเด็กนักเรียนมากขึ้น เนื่องจากทรงเห็นว่าการเรียนโดยใช้ตำราแบบเดิมใช้เวลานาน และเด็กนักเรียนตามหัวเมืองไม่ได้เล่าเรียนอย่างต่อเนื่องเพราะต้องช่วยพ่อแม่ทำนา จึงทรงให้ปรับปรุงตำราอ่านเขียนขึ้นใหม่
พ.ศ. 2435 พระบาทสมเด็จพระจุลจอเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยกฐานะกระทรวงธรรมการขึ้น ให้เจ้ากระทรวงมีตำแหน่งเป็นเสนาบดี เน้นการจัดรูปแบบศึกษาอย่างตะวันตก เกิดการจัดหลักสูตรการศึกษาขึ้น วิชาที่เรียนคือธรรมจารี (ศีลธรรม) ภูมิศาสตร์ พงศาวดาร (ประวัติศาสตร์) วิชาการ(วิทยาศาสตร์) ศิลปะ และการขับร้อง รวมถึงการสอนภาษาต่างประเทศ
ก่อนเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกใน พ.ศ. 2440 ปีหนึ่ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดสอบ และคัดเลือกนักเรียนตามเสด็จพระราชดำเนินไปยุโรป นับเป็นจุดเริ่มต้นของการส่งนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง หรือทุน King’s Scholarship
อย่างไรก็ดีการส่งนักเรียนไปศึกษายังต่างประเทศนั้นไม่ได้รับผลตามความมุ่งหมายมากนัก ดังนั้น ใน พ.ศ. 2441 พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ราชทูตไทยประจำประเทศอังกฤษจึงได้กราบบังคมทูลเสนอความเห็นเกี่ยวกับการศึกษาว่า
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นความสำคัญของการสร้างคนให้มีความสามารถเพราะทรงแน่พระทัยว่าปัญหาสำคัญของชาติในเวลานั้นก็คือการขาดแคลนคนผู้มีความรู้ความสามารถทันสมัยแบบตะวันตก
บุคคลสำคัญทางการศึกษาของไทยอีกผู้หนึ่งซึ่งจะละเว้นไม่กล่าวถึงเสียไม่ได้ และเป็นผู้มีบทบาทอย่างมากในการปฏิรูปการศึกษาในสมัยรัชกาลที่ 5 ด้วยก็คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระวชิรญาณวโรรส ซึ่งในขณะนั้นดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงส่งคำกราบบังคมทูลของพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ไปให้ทอดพระเนตรนั้น กรมหมื่นวชิรญาณวโรรสทรงถวายความเห็นกลับมาเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2441 ว่า การจัดการศึกษาในประเทศนั้นเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพราะคนทั่วไปย่อมไม่มีกำลังทรัพย์เพียงพอที่จะส่งบุตรหลานไปเรียนที่ทวีปยุโรป ผู้ที่ไปเรียนได้จึงมีเพียงจำนวนน้อย ไม่พอกับความต้องการผู้มีความรู้ความสามารถมาช่วยพัฒนาบ้านเมืองในขณะนั้น จึงเห็นควรจะจัดการศึกษาภายในให้เข้มแข็ง และเพียงพอต่อความต้องการของคนในประเทศทั้งการสอนก็จะ ต้องเน้นทั้งด้านวิชาการ และคุณธรรมควบคู่กันไปด้วย หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงผลักดันการศึกษาในหัวเมืองให้เกิดขึ้น โดยมีกรมหมื่นวชิรญาณวโรรสเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการจัดการศึกษาโดยใช้วัดเป็นโรงเรียน และมีกรมหมื่นดำรงราชานุภาพเสนาบดีกระทรวง มหาดไทยเป็นผู้อุดหนุน ผลงานของพระองค์ชี้ให้เห็นว่าการจัดการศึกษาในหัวเมืองเจริญก้าวหน้ามากเพียงปีแรกคือ พ.ศ. 2441 มีโรงเรียนเพิ่มขึ้นจาก 18 โรงเป็น 196 โรง มีนักเรียนเพิ่มจาก 791 คน เป็น 5,682 คน ครูเพิ่มจาก 29 คน เป็น 232 คน และในปีถัดมาได้เพิ่มขึ้นอีก 200% อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับจำนวนเด็กชายทั้งหมดของประเทศในเวลานั้น 458,331 คน มีผู้เขาเรียนในโรงเรียนเพียง 0.01% และในปีถัดมาเพียง 0.02% เท่านั้น
จะเห็นได้ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสนับสนุนการศึกษา และทรงผลักดันให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาของไทยเพื่อให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ แม้ว่าจะเกิดอุปสรรคนานา ประการอันเนื่องมาจากความไม่เข้าใจของประชาชนในระยะแรกที่เข้าใจว่าทรงต้องการให้เด็กเข้าโรงเรียนเพื่อจะได้เป็นทหาร การคุกคามของลัทธิจักรวรรดินิยมที่ทำให้ต้องทุ่มเทงบประมาณไปสู่การป้องกันประเทศมากกว่าด้านการศึกษา การเกิดความไม่สงบภายในประเทศ เช่น กบฏผู้มีบุญภาคอีสาน กบฏเงี้ยวเมืองแพร่ หนังสือตำราเรียนมีราคาแพงเกินกว่าคนทั่วไปจะซื้อได้ รวมทั้งการที่ในระยะแรกการศึกษาจัดขึ้นเพื่อต้องการคนมารับราชการอย่างเร่งด่วน จนทำให้นักเรียนส่วนใหญ่ลาออกก่อนสำเร็จการศึกษาเพื่อไปเป็นเสมียนกันเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ดี ในตอนปลายรัชกาล นโยบายการจัดการศึกษาได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นการมุ่งขยายการศึกษาให้สูงขึ้น เพื่อเกิดประโยชน์แก่ตัวผู้เรียนเอง ดังนั้น การปฏิรูปการศึกษาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงเป็นการวางรากฐานการศึกษาของไทย และเป็นก้าวที่สำคัญของการขยายการศึกษาของชาติในเวลาต่อมา