การผลิตข้าวเพื่อส่งออกเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจของรัฐเกษตรกรรมบนพื้นทวีป ได้แก่ พม่า สยาม เวียดนาม และในระดับรองลงไปคือกัมพูชา บริเวณนี้ผลิตข้าวจ้าวส่งออกประมาณ 70% ของการส่งออกทั้งหมดในโลก การเติบโตของการผลิตข้าวเพื่อส่งออกในบริเวณลุ่มแม่น้ำอิรวดี เจ้าพระยา และปากแม่น้ำโขงนี้เกิดขึ้นหลังจากการเข้ามามีอิทธิพลของชาติจักรวรรดินิยมตะวันตกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวคือ อังกฤษเข้าครอบครองพม่าตอนล่างซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวที่สำคัญที่สุดของพม่าได้ตั้งแต่พ.ศ.2395 ขณะที่ฝรั่งเศสเข้าปกครองแคว้นโคชินไชน่าในพ.ศ. 2405 สำหรับลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา การขยายตัวของการผลิตข้าวอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของราชสำนักสยาม ซึ่งได้รับแรงผลักดันในการเพิ่มผลผลิตเพื่อส่งออกจากการเปิดการค้าเสรีกับชาติตะวันตก หลังการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงกับอังกฤษในพ.ศ. 2398
จากตารางข้างล่าง จะเห็นได้ว่าการผลิตข้าวของสยามเติบโตขึ้นอย่างสม่ำเสมอแต่ไม่รวดเร็วนักทั้งในแง่ของการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก และจำนวนผลผลิต นอกจากนั้น หากมองในด้านการส่งออกจะพบว่าข้าวที่ผลิตได้จะใช้บริโภคภายในเป็นส่วนใหญ่ โดยสัดส่วนของข้าวที่ส่งออกต่อจำนวนที่ผลิตได้ทั้งหมดจะอยู่ระหว่าง 10-25% ในช่วงพ.ศ. 2420-2443 จากนั้นจึงจะเขยิบสูงขึ้นจนถึงเป็น 30-40% ในช่วงพ.ศ. 2444 ถึง 2483 ขณะที่จำนวนผลผลิตจะขยายตัวจากหนึ่งล้านสองแสนตันในตอนต้นทศวรรษ 2400 เป็นสี่ล้านห้าแสนตันในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เท่ากับขยายตัวประมาณ 2.5 เท่าตัวในเวลา 80 ปี ในแง่ของพื้นที่เพาะปลูก จะเห็นได้ว่ามีการขยายตัวอย่างชัดเจนหลังพ.ศ. 2453 ในภาพรวม พื้นที่ผลิตข้าวขยายตัวประมาณ 3 เท่าตัว จากพ.ศ. 2433 มาถึงพ.ศ. 2483
การเติบโตของการผลิตข้าวในสยามที่เป็นไปอย่างช้าๆ เป็นผลมาจากการดำเนินการของชาวพื้นเมือง หรือชาวนาของสยามเอง ซึ่งต่างจากกรณีของพม่า และเวียดนามที่การผลิตข้าวจะมาจากทุน และแรงงานของทั้งชาวพื้นเมือง และชาวต่างชาติ การศึกษาวิถีการผลิต หรือการทำนาในระยะนั้นชี้ให้เห็นว่าชาวนาของสยามยังคงทำนาด้วยวิธีดั้งเดิม เมื่อเป็นเช่นนี้ การขยายตัวของผลผลิตจึงไม่ได้เกิดจากนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่ทำให้ได้ปริมาณข้าวต่อพื้นที่นามากขึ้น แต่เกิดจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกเป็นหลัก ในพ.ศ.2400 บริเวณที่ราบภาคกลางของสยาม ยังเป็นป่า ทุ่งหญ้า และดินโคลนอยู่พอสมควร ประชากรที่ตั้งหลักแหล่งก็ยังเบาบาง การขยายตัวของการผลิตจึงเกิดจากการทำพื้นที่การผลิตที่รกร้างว่างเปล่าเหล่านี้ให้กลายเป็นผืนนา ซึ่งหมายความว่ามีการเคลื่อนย้ายถิ่นของประชากรจำนวนมากเพื่อไปยังบริเวณที่เคยเป็นชายขอบ กลุ่มบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการขยายตัวของการผลิตข้าวในระยะแรกอีกกลุ่มหนึ่งนอกจากชาวนาได้แก่กลุ่มพ่อค้าคนกลางซึ่งมีทั้งชนพื้นเมือง และที่พบมากกว่าคือชาวจีน พ่อค้าคนกลางเป็นผู้ควบคุมการซื้อขายข้าว นำสินค้าสำเร็จรูปที่เป็นที่ต้องการของราษฎรมาเสนอขาย หรือแลกเปลี่ยน ให้กู้ยืมเงินเพื่อลงทุนซื้ออุปกรณ์ และเมล็ดพืช หรือในการใช้จ่ายอื่นๆ รวมทั้งดำเนินกิจการโรงสีข้าว และการส่งออกข้าวด้วย
ในช่วงทศวรรษ 2400 ถึง 2430 เราเห็นการตอบสนองของชาวนาสยามต่อโอกาสทางเศรษฐกิจที่เปิดกว้างขึ้น โดยจะเห็นการขยายตัวของพื้นที่เพาะปลูกในบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางของแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวมาแต่ดั้งเดิม การขยายตัวของที่นาบริเวณนี้เป็นไปอย่างต่อเนื่องจนถึงประมาณพ.ศ. 2433 ก็จะเริ่มอิ่มตัว ที่นาที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกเริ่มหมดลง แต่เนื่องจากความต้องการผลผลิตข้าวของตลาดโลกเพิ่งจะเริ่มขยายตัวอย่างจริงจังในช่วงนี้ จึงสร้างแรงกดดันให้มีการเปิดพื้นที่เพาะปลูกแหล่งใหม่ ได้แก่บริเวณทางตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาเหนือกรุงเทพฯ ขึ้นไปแต่ใต้ที่ราบภาคกลางลงมา
ปัญหาหลักของการทำนาในบริเวณที่ราบฝั่งตะวันออกคือเส้นทางคมนาคม ชาวนาต้องการตั้งถิ่นฐานในบริเวณที่มีแม่น้ำลำคลองที่ใช้เป็นเส้นทางคมนาคมให้เข้าไปถึงที่นา และออกมาสู่ตลาดภายนอกได้ง่าย นอกจากนี้ ลำคลองยังเป็นปัจจัยสำคัญในการชลประทาน เพื่อใช้ในการชักน้ำเข้า และออกจากนา รวมถึงช่วยระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมอีกด้วย รัฐบาลสยามตระหนักถึงความสำคัญของเส้นทางคมนาคม และเริ่มขุดคูคลองในแหล่งผลิตใหม่เพิ่มเติมจำนวนหนึ่ง แต่เมื่อความต้องการเปิดพื้นที่ปลูกข้าวมีมาก และเร็วกว่าที่แผนการของรัฐจะรองรับ เราจึงเห็นการเข้ามาของทุนเอกชนในการขุดคูคลอง และเปิดพื้นที่ทำการผลิต แหล่งทุนที่สำคัญมากจากกลุ่มบุคคลที่หลากหลาย มีตั้งแต่เชื้อสายราชวงศ์ ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ และผู้น้อย กลุ่มเจ้าเมือง พ่อค้าชาวจีน และพนักงานเก็บภาษีอากร การขุดคูคลองโดยเอกชนมีหลายโครงการ แต่ที่สำคัญที่สุดคือการขุดคลองรังสิตของบริษัท สยามที่ดิน คลอง และการชลประทานจำกัด ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษหลังพ.ศ. 2433 เมื่อถึงพ.ศ. 2443 บริษัทนี้สามารถเปิดพื้นที่เพาะปลูกข้าวในบริเวณรังสิตได้ประมาณ 1,250,000 ถึง 2 ล้านไร่
การลงทุนของนายทุนเอกชนในการเปิดพื้นที่ผลิตข้าวของสยามอย่างเดียวย่อมไม่ประสบผลสำเร็จหากไม่มีความกระตือรือร้นจากราษฎรที่เป็นผู้ผลิต ที่รังสิต เราพบว่ามีราษฎรมาจับจองที่ดินทำกินกว่า 1 แสนคนในช่วงทศวรรษ 2430 และ 2440 บางส่วนของผู้จับจองเป็นการจับจองที่ดินเพื่อเก็งกำไรก็จริง แต่ผู้จับจองอีกจำนวนมากเข้ามาผลิตข้าวด้วยตัวเอง งานศึกษาเกี่ยวกับรังสิตชี้ให้เห็นว่าในช่วงแรกของการเปิดพื้นที่บริเวณนี้เป็นถิ่นที่อยู่ที่มีความวุ่นวาย มีกรณีพิพาทเกี่ยวกับที่ดิน และยังมีโจรผู้ร้ายชุกชุม ต่างจากแหล่งผลิตเดิมในบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลาง เหตุผลที่เป็นเช่นนี้อาจเนื่องมาจากรูปแบบของการตั้งชุมชนแตกต่างไปจากเดิม
โดยปรกติ หมู่บ้านของชาวนาสยามจะมีอยู่ 2 รูปแบบคือตั้งขนานแม่น้ำลำคลองโดยมีที่นาอยู่ข้างหลัง หรือมิฉะนั้นก็จะตั้งบ้านเรือนรวมตัวกันอยู่เป็นกระจุกตรงกลางมีที่นาล้อมรอบ หมู่บ้านดั้งเดิมก็จะถูกกำหนดตามลักษณะความสัมพันธ์ของชุมชนดังกล่าว ในกรณีของรังสิต เนื่องจากผู้จับจองมาจากถิ่นต่างๆ ไม่รู้จักกันมาก่อน การตั้งบ้านเรือนมักจะตั้งในที่นาของแต่ละคน จึงเกิดลักษณะถิ่นฐานที่อยู่แบบกระจัดกระจาย การที่รัฐเข้ามากำหนดขอบเขตของหมู่บ้านโดยใช้จำนวนเป็นหลักก็ไม่ช่วยให้เกิดความเป็นชุมชน ชาวนาในบริเวณนี้จึงมีวิถีชีวิตแบบต่างคนต่างอยู่ การทำนาก็ไม่ได้ทำร่วมกันเป็นหมู่บ้านเช่นเดิม นอกจากนั้น การปฏิรูปที่ดินยังทำให้ที่ดินกลายเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อขาย จำนองได้ จึงมีการเปลี่ยนมือ หรือแบ่งซอยย่อยเพื่อแบ่งเป็นมรดกให้ลูกหลาน และให้เช่าที่ดินทำกิน
แม้จะมีปัญหา แต่การเปิดพื้นที่เพาะปลูกในบริเวณที่ราบฝั่งตะวันออกก็แสดงให้เห็นการเข้ามามีส่วนร่วมของทุน และแรงงานเอกชนในกิจการข้าวของสยาม และมาจากชนทุกระดับ โดยเฉพาะราษฎรที่เป็นชาวนามาแต่ดั้งเดิม การเข้าร่วมแสดงถึงการเลือกสรรที่จะตอบสนองต่อโอกาสทางเศรษฐกิจแม้ว่าจะต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต และอพยพย้ายถิ่นก็ตาม การเปิดพื้นที่ผลิตใหม่ทำให้ผลผลิตข้าวขยายตัว ช่วงพ.ศ. 2398 ถึง 2400 ข้าวที่ผลิตได้ในสยามจะถูกส่งออกเพียงประมาณ 5% ที่เหลือบริโภคภายใน เมื่อถึงพ.ศ. 2475 จำนวนข้าวที่ส่งออกจะเพิ่มขึ้นถึง 25 เท่า ถึงกระนั้นก็ตาม สัดส่วนของข้าวจากสยามในตลาดส่งออกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังน้อยกว่าพม่าอยู่ถึงครึ่งหนึ่ง สาเหตุที่ทำให้การเติบโตของการผลิตข้าวในสยามช้ากว่าในพม่าทั้งที่มีที่ดินอุดมสมบูรณ์ไม่แพ้กันก็เนื่องจากทุน และแรงงานที่มาจากชาวพื้นเมืองเองนั้นไม่เพียงพอ อาจจะเพียงพอสำหรับการขยายตัวระยะแรก แต่กลายเป็นข้อจำกัดที่สำคัญในระยะต่อมา
การขาดแคลนแรงงานในการทำข้าวของสยามเริ่มเห็นได้ตั้งแต่กลางทศวรรษ 2430 ซึ่งในตอนนั้นการแก้ไขคือการใช้แรงงานจ้างในช่วงที่ต้องการแรงงานเป็นพิเศษเช่นการปักชำ และการเก็บเกี่ยว เราพบว่าค่าจ้างแรงงานในการเกษตรเพิ่มจาก 2 บาทต่อวันในราวพ.ศ. 2433 เป็น 3 บาทในพ.ศ. 2450 และเคยขึ้นถึง 6 บาทในบางปี ถึงกระนั้น แรงงานที่มารับจ้างก็ยังไม่พอเพียง ถึงขนาดที่ผู้ผลิตบางกลุ่มร้องต่อรัฐบาลขอให้นำแรงงานนักโทษมาเป็นแรงงานรับจ้างอีกด้วย แรงงานสำคัญอีกกลุ่มหนึ่งคือแรงงานอพยพตามฤดูกาลจากภาคอีสาน ซึ่งจะเข้ามามากในช่วงพ.ศ. 2440-2450 แต่สิ่งที่ขาดหายไปในกรณีของสยามที่ทำให้ต่างจากพม่าคือไม่มีการใช้แรงงานอพยพต่างชาติเลย
การขาดแคลนแรงงานอาจจะไม่เป็นปัญหาหากมีการลงทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเข้ามาทดแทน เช่นการทำชลประทานขนาดใหญ่ ในปัจจุบัน ผู้ที่ศึกษาเรื่องราวของการผลิตข้าวในสยามมักชี้ไปที่จุดบกพร่องสำคัญที่รัฐบาลสยามในครั้งกระนั้นประสบกับความล้มเหลว นั่นคือการที่รัฐบาลเลือกที่จะไม่ทำเขื่อนขนาดใหญ่ในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณจังหวัดชัยนาทซึ่ง J. Homan Van der Heide วิศวกรชาวดัตช์ที่มาทำงานอยู่ในกรมชลประทานเสนอให้ทำ การทำเขื่อน และการตัดคูคลองย่อยเพื่อส่งน้ำเข้านาจะช่วยให้พื้นที่ผลิตข้าวภาคกลางอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น Van der Heide ประมาณการว่าโครงการชลประทานจะให้ชาวนาครอบครัวหนึ่งทำนาเพิ่มจาก 20 ไร่ เป็น 50 ไร่ แต่การลงทุนสำหรับโครงการนี้สูงมากซึ่งในที่สุดรัฐบาลสยามตัดสินใจที่จะไม่ทำ
เมื่อหันมามองการลงทุนของเอกชน เราพบว่าการลงทุนส่วนใหญ่ทำในส่วนของการเปิดพื้นที่ผลิตซึ่งเป็นการเก็งกำไรระยะสั้น ส่วนการลงทุนที่จะให้ผลดีต่อการผลิตข้าวระยะยาว เช่น ซื้อเครื่องจักรกลเพื่อใช้แทนแรงงานคน และสัตว์เลี้ยง หรือการทดลองปลูกข้าวพันธุ์ใหม่นั้นไม่ค่อยเกิดขึ้น อุปสรรคสำคัญในส่วนนี้อาจจะมาจากการขาดเงินกู้ หรือเครดิตที่ชาวนาจะสามารถกู้ยืมมาลงทุนได้ ดังนั้น การขยายตัวของการผลิตข้าวในสยามจึงต่างจากพม่าในอีกประเด็นหนึ่งคือขยายตัวโดยการกู้ยืมเงินน้อย ซึ่งในส่วนดีคือเมื่อการส่งออกข้าวมีปัญหา เช่นความต้องการข้าวในตลาดโลกลดลง ผลกระทบต่อผู้ผลิตจะเกิดขึ้นไม่มากนัก ขณะเดียวกัน การขาดแคลนเงินกู้ หรือเงินลงทุนก็ทำให้การผลิตข้าวของสยามเติบโตได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น