สังคมไทยเป็นสังคมที่มีพัฒนาการมาอย่างยาวนาน และมีลักษณะวัฒนธรรมประเพณีที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง วัฒนธรรมประเพณีของไทยนั้นเกิดจากการผสมผสานทั้งความเชื่อทางศาสนา และความเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติเข้าด้วยกัน
ประเพณีของไทยนั้นมีทั้ง 12 เดือน มีทั้งประเพณีหลวง และประเพณีราษฎร์ ประเพณีราษฎร์ (ประเพณี 12 เดือน) พัฒนามาจากพิธีกรรม(นักมนุษยวิทยาอธิบายว่า พิธีกรรมคือพฤติกรรมที่คนในชุมชนแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมด้วยพื้นฐาน และสำนึกตามระบบความเชื่อ และศาสนาที่แตกต่างกัน แต่มีความประสงค์คล้ายคลึงกันคือ เพื่อดำรงชีวิตอยู่รอดร่วมกัน และต่างก็ทำต่อเนื่องจนเป็นประเพณี) เกี่ยวกับการทำมาหากินของสังคมเกษตรกรรมที่เทคนิควิทยายังไม่ก้าวหน้าเช่นปัจจุบัน และพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับอำนาจเหนือธรรมชาติเพื่อขอความมั่นใจ และกำลังใจในการผลิต ส่วนประเพณีหลวง (พระราชพิธี 12 เดือน) มักจะเป็นพิธีที่ช่วยส่งเสริมความชอบธรรมในฐานะผู้ปกครองของพระมหากษัตริย์ บางพิธีช่วยสร้างเสริมความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ หรือบางพิธีจัดเพื่อส่งเสริมความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมือง
ข้อมูลที่เก่าที่สุดเรื่องหนึ่งที่กล่าวถึงพระราชพิธี 12 เดือน ปรากฏในกฎมณเทียรบาลซึ่งเป็นกฎหมายเก่าครั้งกรุงศรีอยุธยาที่รวบรวมไว้ในประมวลกฎหมายตราสามดวง มีรายละเอียดดังนี้
เดือน 5 | การพระราชพิทธีเผดจ์ศกลดแจตร ออกสนาม |
เดือน 6 | พิทธีไพศากขย จรดพระราชอังคัล |
เดือน 7 | ทูลน้ำล้างพระบาท |
เดือน 8 | เข้าพระวษา |
เดือน 9 | ตุลาภาร |
เดือน 10 | พัทรบท พิทธีสาท |
เดือน 11 | อาสยุชแข่งเรือ |
เดือน 12 | พิทธีจรองเปรียง ลดชุดลอยโคม |
เดือน 1 | ไล่เรือ เถลิงพิทธีตรียำพวาย |
เดือน 2 | การพิทธีบุตรยาภิเศก เฉวียรพระโคกินเลี้ยง |
เดือน 3 | พิทธีธานยะเทาะห |
เดือน 4 | การสํพรรษฉิน |
พระราชพิทธีเผดจ์ศกลดแจตร หรือพระราชพิธีเผด็จศกลดแจตร คือพระราชพิธีขึ้นปีใหม่ หรือสงกรานต์ จุดประสงค์ของการจัดพระราชพิธีนอกจากเพื่อเฉลิมฉลองปีใหม่แล้วยังเป็นการทำบุญเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลในวันปีใหม่ด้วย
พระราชพิธีออกสนามใหญ่ หรือพระราชพิธีออกสนามใหญ่ พิธีนี้ทำไปพร้อม ๆ กัน หรือไล่เลี่ยกับพิธีถือน้ำพิพัฒย์สัตยา ฉะนั้นในปีหนึ่งจึงมีการทำพิธีนี้ 2 ครั้ง คือเดือน 5 และเดือน 10 พระราชพิธีนี้คล้ายงานสวนสนามในปัจจุบัน เพราะมีการตั้งขบวนทหารพร้อมอาวุธมีริ้วขบวนทหารพลเรือนต่าง ๆ สวนสนามให้กษัตริย์ทอดพระเนตร จุดประสงค์ของการประกอบพิธีเพื่อให้ทหาร และพลเรือนแสดงความจงรักภักดี และเป็นการแสดงความพร้อม หรือแสนยานุภาพของกองทหารให้ปรากฏแก่ขุนนางข้าราชการ และเจ้าประเทศราช
พระราชพิธีไพศากขยจรดพระราชอังคัล หรือพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญจุดประสงค์ของพระราชพิธีคือการสร้างขวัญ และกำลังใจอีกทั้งเป็นการทำนาตัวอย่างแก่ราษฎรชักนำให้มีใจหมั่นในการทำนาอันเป็นสิ่งสำคัญในการเลี้ยงชีพ เมื่อประกอบพระราชพิธีนี้แล้วราษฎรจะลงมือทำนาต่อไป
พระราชพิธีทูลน้ำล้างพระบาท ปัจจุบันไม่ทราบแน่ชัดว่าพระราชพิธีนี้คือพระราชพิธีอะไร สันนิษฐานว่าเป็นพิธีส่งเสริมพระบรมเดชานุภาพของพระเจ้าแผ่นดินเป็นการแสดงความสวามิภักดิ์ และยอมรับอำนาจของพระเจ้าแผ่นดิน
พระราชพิธีเข้าพระวษา หรือเข้าพรรษา เป็นพระราชพิธีบำเพ็ญการพระราชกุศลช่วงเข้าพรรษาทั้งการถวายผ้าพระกฐินทางสถลมารค และชลมารค การเสด็จไปทำบุญไหว้พระพุทธบาท
พระราชพิธีตุลาภาร ปัจจุบันไม่ทราบแน่ชัดว่าคือพระราชพิธีอะไรพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอธิบายว่าเป็นพิธีสะเดาะเคราะห์ หรือบำเพ็ญทานแต่ไม่แน่ชัดว่าเป็นการสะเดาะเคราะห์ให้องค์พระมหากษัตริย์ หรือบ้านเมือง ลักษณะการประกอบพระราชพิธีคือ การตั้งตราชั่งข้างซ้ายใส่พระราชทรัพย์ ข้างขวาให้พระมหากษัตริย์ หรือมเหสีประทับ ส่วนเงินทองที่วางบนตราชั่งจะพระราชทานให้ผู้ใดไม่ปรากฏแน่ชัดเช่นกัน
พระราชพิธีพัทรบท พิทธีสารท หรือพระราชพิธีภัทรบทพิธีสารทข้าว กฎมณเทียรบาลกล่าวถึงพิธีนี้ว่าเป็นพิธีเดือน 10 แต่ไม่มีรายละเอียดพิธี โดยทั่วไปแล้วเดือน 10 มีงานพระราชพิธีหลายอย่างรวมทั้งฉลองนาคหลวง พิธีกวนข้าวทิพย์ถวายพระสงฆ์ และพราหมณ์
พระราชพิธีอาสยุชแข่งเรือ คือพิธีแข่งเรือระหว่างเรือของกษัตริย์ และอัครมเหสีเพื่อเสี่ยงทายความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมือง ถ้าเรือของกษัตริย์แพ้ปีนั้นข้าวปลาอาหารจะบริบูรณ์แต่ถ้าเรือกษัตริย์ชนะบ้านเมืองจะมียุคเข็ญ
พระราชพิธีจรองเปรียง ลดชุดลอยโคม ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือนางนพมาศ อธิบายว่าพิธีนี้เป็นพิธีตามประทีปด้วยน้ำมันเปรียง(น้ำมันไขข้อของวัว) เพื่อบูชาพระพุทธเจ้า หรือสักการบูชาพระมหาเกศธาตุจุฬามณีในชั้นดาวดึงส์
พระราชพิธีไล่เรือ จุดประสงค์ของการประกอบพิธีเพื่อให้น้ำลดจะได้เกี่ยวข้าวได้ ตามความเชื่อโบราณเมื่อประกอบพิธีนี้จะทำให้น้ำลดอย่างรวดเร็ว พระราชพิธีนี้มีความสำคัญต่อจิตใจของราษฎรซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรม
พระราชพิธีตรียำพวาย หรือพระราชพิธีตรีปวาย หรือพิธีโล้ชิงช้า เป็นพิธีส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ในศาสนาพราหมณ์- ฮินดู เป็นพิธีต้อนรับพระอิศวร และพระนารายณ์ซึ่งเสด็จเยี่ยมโลกมนุษย์ปีละครั้ง
พระราชพิทธีบุตรยาภิเศก หรือพระราชพิธีบุษบาภิเษก หรืองานเลี้ยงดอกไม้วงมงคล เป็นพระราชพิธีสนานที่จัดให้มีการสรงน้ำพระเจ้าแผ่นดิน วัตถุประสงค์หลักของพระราชพิธีนี้น่าจะเป็นไปเพื่อการเสริมส่งฐานะ และยกย่องพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์
พระราชพิธีเฉวียรพระโคกินเลี้ยง พระราชพิธีนี้ทำขึ้นเพื่อสมโภชพระโคอุสุภราชซึ่งเป็นพระโคที่ใช้ในการทำพิธีจรดพระนังคัล หรือนัยหนึ่งคืองานบูชาปศุสัตว์ (วัว) เพื่อขอบคุณที่ช่วยทำงานในไร่นาตลอดปีที่ผ่านมา
พระราชพิทธีธานยะเทาะห หรือพระราชพิธีธานย์เทาะห์ หรือพิธีเผาข้าว จุดประสงค์ต้องการประกอบพิธีเพื่อความเป็นสวัสดิมงคล และป้องกันอุบาทว์จัญไรมิให้เกิดแก่พืชพันธุ์ธัญญาหาร การเผาตอ หรือยุ้งข้าวในสมัยก่อนถือเป็นเรื่องสำคัญ และศักดิ์สิทธิ์ เพราะหมายถึงความมั่นคงของชีวิตในอนาคต ด้วยข้าวกล้าในปีเพาะปลูกต่อไปจะเจริญงอกงามอุดมสมบูรณ์มากน้อยอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับการจัดการของปีนี้
พระราชพิธีการสํพรรษฉิน หรือพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ คือพิธีตรุษ หรือพิธีตัดปี เป็นพิธีที่ทำในวันสิ้นปี ในพิธีนี้จะมีการสวดอาฏานาฏิยสูตร เพื่อขับไล่ภูตผีปีศาจ และระวังภัยต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นแก่ผู้คนในพระราชอาณาเขต