สารบัญ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร ประสูติเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2405 ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 57 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเจ้าจอมมารดาชุ่ม ทรงมีหม่อมในพระองค์ 8 ท่าน มีพระโอรสและพระธิดาทั้งหมด 37 พระองค์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรง ราชานุภาพสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2486 ที่วังวรดิศ

พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร ทรงแรกพระอักษรเมื่อพระชันษา 3 ปี กับคุณแสงเสมียน ต่อมาย้ายไปเรียนกับคุณปาน (ธิดาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ) ทรงได้เริ่มใช้หนังสือพิมพ์ คือ ปฐม ก กา ซึ่งหมอบรัดเลพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรก และหัดอ่านหนังสือเรื่องต่างๆ เช่น บทละคร อิเหนา รามเกียรติ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงซื้อหนังสือสามก๊กที่หมอบรัดเลพิมพ์ขายมาพระราชทาน 4 เล่มสมุดฝรั่ง “ ตั้งแต่ฉันอ่านหนังสือสามก๊กเป็นหนังสือเรียน เลยชอบอ่านหนังสือเป็นนิสัยติดตัวมาจนบัดนี้” เมื่อพระชันษา 8 ปี ทรงเรียนหนังสือขอมหรือการเรียนภาษามคธ พระชันษา 9 ปี เรียนภาษาอังกฤษกับฟรานซิส จอร์จ ปีเตอร์สัน (Francis George Peterson) ทรงเรียนภาษาอังกฤษอยู่ 4 ปีจึงเข้าพิธีโสกันต์และผนวชสามเณรตามประเพณี การศึกษาขั้นต้นจบลงเมื่อพระชันษา 14 ปี การศึกษาต่อจากนั้นทรงศึกษาต่อโดยการอ่านและเขียนด้วยพระองค์เอง

พระองค์เจ้าดิศวรกุมารทรงใฝ่พระทัย เรื่องพระพุทธศาสนา พระองค์มักไปเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชอยู่เป็นประจำ สมเด็จพระสังฆราชมักประทานหนังสือพิมพ์สอนพระพุทธศาสนาให้อ่าน นอกจากนี้ยังทรงสนพระทัยวิชาอาคม ทำให้พระองค์คุ้นเคยกับเจ้าเขมร รอบรู้เรื่องเครื่องรางของขลัง พระองค์สนพระทัยภาษาอังกฤษเป็นพิเศษ ทรงกล่าวถึงการเรียนภาษาอังกฤษของพระองค์ว่าเป็นคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองและเป็นคุณประโยชน์แก่พระองค์อย่างมาก คุณแก่บ้านเมืองเกิดจากการเจรจา ติดต่อสื่อสารตะวันตกได้เข้าใจ ส่วนคุณแก่พระองค์ คือ การอ่านเอกสาร หลักฐานของตะวันตก ทำให้พระองค์รอบรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ที่หลากหลาย การเรียนภาษาอังกฤษของพระองค์หมายรวมถึงการเรียน รู้ประวัติศาสตร์ ปรัชญา ศาสนา วัฒนธรรม และโลกทัศน์แบบตะวันตก

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพ.ศ. 2429 โปรดเกล้า ฯพระราชทานเลื่อนพระอิสริยยศขึ้นเป็น กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ พ.ศ. 2442 โปรดเกล้า ฯ พระราชทานเลื่อนพระอิสริยยศขึ้นเป็น กรมหลวงดำรงราชานุภาพ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2454 โปรดเกล้า ฯ พระราชทานเลื่อนพระอิสริยยศขึ้นเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2472 โปรดเกล้า ฯ พระราชทานเลื่อนพระอิสริยยศขึ้นเป็น “ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ”

สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงได้รับการยกย่องจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าเป็น “ เพชรประดับมงกุฎของราชาธิปไตย” ในที่ประชุมข้าหลวงเทศาภิบาล ทรงรับใช้ใกล้ชิดพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิบัติงานในหน้าที่สำคัญต่างๆมากมาย เช่น ผู้บังคับการทหารมหาดเล็ก ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร อภิรัฐมนตรี นายกราชบัณฑิตเป็นต้น นอกจากพระภาระทางหน้าที่ราชการแล้ว พระองค์ยังสนพระทัยวิชาประวัติศาสตร์และโบราณคดี จนในเวลาต่อมาได้รับพระสมัญญานามว่า “พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย” งานด้านวรรณกรรมของพระองค์หรือพระนิพนธ์ก็มีอยู่มากมาย ทั้งกวีนิพนธ์ ร้องแก้ว ร้อยกรอง วรรณกรรมภาษาอังกฤษ วรรณกรรมเกี่ยวกับการศึกษา ขนบธรรมเนียมประเพณี วรรณกรรมทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี และตำนานต่างๆ วรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาและพระภิกษุสงฆ์ วรรณกรรมเกี่ยวกับประวัติบุคคล วรรณกรรมวรรณคดี ศิลปะ การบันเทิงและเครื่องดนตรี วรรณกรรมด้านสังคมศาสตร์ วรรณกรรมเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ และวรรณกรรมเบ็ดเตล็ด ต่างๆ ผลงานที่สำคัญ เช่น สาส์นสมเด็จ ไทยรบพม่า เสด็จประพาสต้น พระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 2 พระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 5 ลักษณะการปกครองของสยามแต่โบราณ เป็นต้น

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพยังมีบทบาทในการก่อตั้งหอพระสมุดวชิรญาณ ในพ.ศ. 2424 เพื่อรวบรวมหนังสือ หายากไว้เป็นประโยชน์ในการค้นคว้าสำหรับมวลชน ทั้งยังมีหน้าที่ในการคัดลอก จัดหา จัดพิมพ์หนังสือหายาก หนังสือสำคัญต่างๆ โดยทรงโปรดให้มีการคัดลอกเอกสารสำคัญ เช่น พระราชพงศาวดาร ตำนาน จดหมายเหตุ งานวรรณกรรม ฯลฯ และยังมีบทบาทสำคัญในการรวบรวมเอกสารสำคัญที่มีคุณค่าจากหัวเมืองต่างๆ รวมทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้องกับราชอาณาจักรไทยจากต่างประเทศ ได้แก่ อังกฤษ วิลันดา (เนเธอร์แลนด์) เดนมาร์ก เป็นต้น เอกสารเหล่านี้ล้วนมีคุณค่าต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ และยังทรงรับซื้อหนังสือเก่าที่มีคุณค่าจากทั้งต่าง ประเทศและภายในเมืองไทย รวมถึงเชิญชวนให้บริจาคหนังสือเก่าเพื่อรวบรวมไว้ในหอพระสมุดวชิรญาณ และยังให้ความสำคัญกับการพิมพ์หนังสือต่างๆเพื่อสร้างเสริมความรู้ใหม่ให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษาค้นคว้า

นอกจากนี้ สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ยังสนพระทัยวิทยาการสมัยใหม่ เช่น การถ่ายภาพ สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงถ่ายภาพในวังวรดิศและบ้านเมือง ประชาชนต่างๆ ระหว่างเสด็จตรวจงานเป็นอัลบั้มหลายชุด (เก็บอยู่ที่หอสมุดดำรงราชานุภาพและหอจดหมายเหตุแห่งชาติ) ภาพฝีพระหัตถ์ของสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพที่สำคัญ เช่น ภาพเด็กๆในวังวรดิศ ภาพเจดีย์ภูเขาทอง อยุธยาเมื่อน้ำกำลังเจิ่งนอง เป็นต้น สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ส่งภาพถ่ายเข้าประกวด “ ประกาศการอวดรูปถ่าย” การประกวดภาพถ่ายครั้งแรกของเมืองไทย ในงานประจำปีวัดเบญจมบพิตรในวันที่ 9 – 13 ธันวาคม พ.ศ. 2448 ทรงส่งภาพถ่ายเข้าประกวด 2 ภาพ คือ ภาพไฟไหม้ และ ภาพหงษ์บิน

การที่สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงรอบรู้สรรพวิชาต่างๆเป็นผลมาจากการที่ทรงขวนขวายหาความรู้และพระนิสัยรักการอ่านของ พระองค์ ความสนพระทัยในสิ่งต่างๆรอบตัว ทำให้พระองค์ทรงเปิดรับและยอมรับวิทยาการสมัยใหม่และความรู้ใหม่ๆจากตะวันตกมาปรับใช้ ในการบริหารราชการบ้านเมืองและปรับปรุงสังคมไทยให้ทัดเทียมอารยประเทศ

หนังสืออ่านเพิ่มเติม
- กระทรวงมหาดไทย. ดำรงราชานุสรณ์. อนุสรณ์เนื่องในการเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระรูปอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ 1 เมษายน 2511.
- ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จ ฯ กรมพระยา. ความทรงจำ . พระนคร : แพร่พิทยา , 2514.
- สุจริต ถาวรสุข. พระประวัติและผลงานของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เล่ม 1-3. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา , 2508.
หน้า จาก ๒๒ หน้า