สารบัญ
ชาวจีนกับเศรษฐกิจของสยาม

ภาพสะท้อนที่เด่นชัดอย่างหนึ่งที่เราได้รับจากการอ่านหนังสือ Twentieth Century Impressions of Siam คือความสำคัญทางเศรษฐกิจของชาวจีน อาจกล่าวได้ว่าหนังสือเล่มนี้มีประโยชน์ต่อผู้ที่ต้องการศึกษาเรื่องราวของชุมชนชาวจีนในสยาม เนื่องจากมีการกล่าวถึงประวัติความเป็นมา และผลงานของชาวจีนที่มีบทบาทเด่นชัดทางเศรษฐกิจ ทั้งในการผลิต การค้าข้าว เหมืองแร่ และการค้าขายทั่วไป นับเป็นเอกสารร่วมสมัยชิ้นสำคัญที่ทำให้เรารู้จักชาวจีนในสมัยนั้นมากขึ้น

บทบาททางเศรษฐกิจของชาวจีนอยู่คู่กับสังคมสยามมาเป็นเวลาช้านาน และเด่นชัดยิ่งขึ้นตั้งแต่การก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ในพ.ศ. 2325 จะเห็นได้ว่าที่ตั้งของกรุงเทพฯนั้นเดิมก็เป็นถิ่นที่อยู่ของชาวจีน จากนั้นมา การเติบโตทางเศรษฐกิจ และการค้าของสยามระหว่างรัชกาลที่ 1-3 จะเกิดขึ้นควบคู่ไปกับการอพยพเข้ามาของชาวจีนซึ่งหลักฐานจากช่วงต้นรัชกาลที่ 3 ชี้ว่าเข้ามาประมาณปีละสองถึงสามพันคน ในระยะต่อมา จำนวนชาวจีนอพยพจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงประมาณ 16,000 คนต่อปีในตอนกลางของสมัยรัชกาลที่ 5 และประมาณ 68,000 คนต่อปีระหว่างพ.ศ. 2450-2460 ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากสยามเป็นดินแดนแห่งโอกาสทางเศรษฐกิจที่เปิดกว้างขึ้นจากการเปิดการค้าเสรี และการเติบโตของเศรษฐกิจการส่งออก ขณะเดียวกันชาวจีนก็มีแรงผลักดันอันเนื่องมาจากความยากจนแร้นแค้นรวมทั้งปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศจีนด้วย ชาวจีนอพยพที่เข้ามาระยะหลังส่วนใหญ่มาเป็นผู้รับจ้างแรงงาน เช่นเป็นกรรมกรเหมืองแร่ เป็นกุลีขนถ่ายสินค้าตามโกดังสินค้า และท่าเรือ เป็นคนขับรถลาก เป็นต้น แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่มาพร้อมเงินทุน หรือสามารถเก็บหอมรอมริบจากการประกอบกิจการเล็กๆ ในระยะแรกจนสามารถพัฒนาขึ้นเป็นนายทุน และผู้ประกอบการที่สำคัญ อาจกล่าวได้ว่า การเติบโตของเศรษฐกิจแบบทุนนิยม และการรับจ้างแรงงานในสยามสัมพันธ์กับเรื่องราวความเป็นไปของชาวจีนอพยพอย่างแยกออกได้ยาก

หลังการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง พุทธศักราช 2398 มาจนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 การเติบโตของนายทุน และผู้ประกอบการชาวจีนในสยามสามารถแบ่งออกได้เป็นสองระยะ ระยะที่1 ประกอบด้วยกลุ่มนายทุนขุนนางจีนที่เติบโตขึ้นมาบนรากฐานของระบบเจ้าภาษีนายอากร และระยะที่ 2 ประกอบด้วยกลุ่มนายทุนรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นพร้อมกับอุตสาหกรรมการผลิตข้าวเพื่อส่งออกในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้นมา

ระบบเจ้าภาษีนายอากร คือการที่รัฐเปิดประมูลสัมปทานการเก็บภาษีอากรผลผลิต หรือสินค้า หรือการบริการเป็นแต่ละชนิด ผู้ที่ประมูลได้จะจ่ายเงินภาษีให้รัฐแล้วทำกำไรโดยการหารายได้จากสิ่งที่ประมูลได้ให้มากกว่าภาษีที่เสียให้กับรัฐ ดังนั้น เจ้าภาษี นายอากร จะต้องหาวิธีกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวของการค้า การผลิต หรือการบริโภคของราษฎรเพื่อที่จะจัดเก็บผลประโยชน์ให้ได้มากที่สุด บางครั้ง จึงมีการชักจูง หรือนำผู้คนอพยพเข้ามาทำการผลิตสินค้า หรืออาจต้องช่วยลงทุนให้แก่ผู้ผลิตอีกด้วย ระบบนี้เชื่อกันว่ามีใช้ในสยามมาตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่จะขยายตัวอย่างแท้จริงในสมัยรัชกาลที่ 3 (พ.ศ. 2368-2394) ซึ่งมีการเปิดประมูลการทำภาษีอากรต่างๆ ถึง 38 ชนิด รวมถึงภาษีบ่อนเบี้ย ล๊อตเตอรี่ (หวย ก ข) และสินค้าส่งออกอย่างเช่นพริกไทย และน้ำตาล หลังจากที่สยามต้องตกลงทำสนธิสัญญาเบาว์ริงในสมัยรัชกาลที่ 4 รัฐมีความจำเป็นต้องหารายได้ทางอื่นมาชดเชยการเก็บภาษีขาเข้าขาออกซึ่งสนธิสัญญากำหนดอัตราไว้ต่ำมาก เป็นเหตุให้มีการใช้ระบบเจ้าภาษีนายอากรในการเก็บภาษีชนิดต่างๆ เพิ่มขึ้นอีกเกือบเท่าตัว รวมถึงสินค้าเข้า และออกที่สำคัญ ได้แก่ ฝิ่น และดีบุก เป็นต้น การรับทำภาษีอากรเป็นที่นิยมอย่างมากในบรรดาพ่อค้า และนักลงทุนชาวจีนเพราะเป็นกิจการที่ทั้งทำกำไรได้อย่างรวดเร็ว และยังเป็นช่องทางให้หมุนเงินไปใช้ในกิจการอื่นๆ เช่น การค้า และการผลิต เป็นต้น ดังจะพบจากหลักฐานว่า ในสมัยรัชกาลที่ 4 เจ้าภาษีส่วนใหญ่ ประมาณ 250 คนเป็นชาวจีน ขณะที่เจ้าภาษีที่เป็นชาวไทยมีเพียง 50 คน

นายทุนจีนที่เติบโตภายใต้ระบบเจ้าภาษีนายอากรในสมัยรัชกาลที่ 4 มาจนถึงต้นรัชกาลที่ 5 มักจะมาจากกลุ่มพ่อค้าสำเภาดั้งเดิมที่เคยทำการค้าสำเภาให้กับหลวง หรือในรูปแบบของเอกชนมาก่อน เมื่อรัฐเริ่มเปิดประมูลภาษีอากร พ่อค้ากลุ่มนี้ก็ได้ก้าวเข้าไปมีส่วนร่วมในการเก็บรวบรวม หรือผลิตสินค้าส่งออกหลายชนิด เช่น รังนก ไม้หอม น้ำตาล ไม้สัก และการนำเข้าฝิ่น เหล้า และสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ และสามารถนำกำไรที่ได้จากการทำภาษีไปลงทุนในธุรกิจอื่น เช่นการค้า เหมืองแร่ ป่าไม้ และโรงสีข้าว เป็นต้น ปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมการทำงาน และการสะสมทุนของพ่อค้ากลุ่มนี้คือการอุปถัมภ์ค้ำชูของราชสำนัก และเหล่าขุนนางที่มีอิทธิพลทางการเมือง เจ้าภาษี หรือนายอากรที่สำคัญมักได้รับแต่งตั้งให้เป็นขุนนาง มีบรรดาศักดิ์สูง เช่น พระยาโชฏึกราชเศรษฐี เป็นต้น นายทุนที่เป็นขุนนางเหล่านี้ยังสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างกันโดยการแต่งงาน และบางคนได้ส่งลูกหลานสตรีเข้ารับราชการฝ่ายใน ทำให้ความสัมพันธ์กับราชสำนักแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ตัวอย่างของนายทุนจีนที่เติบโตภายใต้ระบบความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ และการเมืองดังกล่าว ได้แก่ ตระกูลของผู้ที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาโชฏึกราชเศรษฐี เช่นตระกูล โชติกเสถียร โชติกพุกกณะ และโชติกสวัสดิ์ เป็นต้น นอกจากนั้น ยังมีตระกูล เลาหะเศรษฐี ตระกูลสมบัติศิริ ตระกูลพิศาลบุตร ตระกูลพิศลยบุตร และเจ้าภาษีที่มีฐานมาจากการทำเหมืองแร่อย่างเช่น ตระกูล ณ ระนอง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม บทบาท และอิทธิพลทางเศรษฐกิจของกลุ่มนายทุนขุนนางเชื้อสายจีนเหล่านี้เริ่มลดลง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำเนินนโยบายต่างๆ เพื่อกระชับอำนาจการปกครอง และดึงผลประโยชน์ของรัฐเข้าสู่ศูนย์กลาง เริ่มจากการจัดตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ขึ้นในพ.ศ. 2416 เพื่อดูแลการจัดเก็บภาษีอากร แม้ว่าระบบเจ้าภาษีนายอากรจะยังคงอยู่ต่อมาจนถึงสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่ทางการก็ได้เริ่มทยอยยกเลิกการเก็บภาษีอากรภายใต้ระบบนี้ไปที่ละส่วน หลังจาก พ.ศ.2435 ภาษีที่เก็บจากการผลิตสินค้าต่างๆ จะถูกโอนเป็นหน้าที่ของรัฐผ่านข้าราชการของกระทรวงมหาดไทย และในช่วงหลังพ.ศ. 2448 ภาษีที่สำคัญที่สุด 4 อย่าง ซึ่งได้แก่ ภาษีฝิ่น สุรา บ่อนเบี้ย และล๊อตเตอรี่จะค่อยๆถูกยกเลิก หรือโอนมาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ

ผลที่เกิดจากนโยบายของรัฐทำให้นายทุนจีนที่เติบโตขึ้นภายใต้ระบบเจ้าภาษีนายอากรต้องปรับเปลี่ยนบทบาททางเศรษฐกิจ โดยหลายคนเบนเข็มไปที่การผลิต และการค้าข้าวซึ่งเริ่มเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญในขณะนั้น ผู้ที่มีบทบาทสำคัญเป็นที่รู้จักคนหนึ่งคือ นายอากรเต็ง เจ้าของบริษัท กิมเซ่งหลี (Kim Seng Lee) ซึ่งเริ่มปรับเปลี่ยนจากการรับทำภาษีผลประโยชน์ในภาคเหนืออย่างเดียวมาทำธุรกิจข้าว และไม้สัก และขยายไปสู่การเดินเรือ การธนาคาร และการประกันภัยด้วย อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนตัวเองของนายทุนจีนกลุ่มนี้ประสบกับปัญหา และอุปสรรคเนื่องจากขาดเงินทุนหมุนเวียนที่เคยได้จากการทำภาษีในระบบเจ้าภาษีนายอากรมารองรับ ยิ่งไปกว่านั้น จำนวนภาษีที่เปิดประมูลลดน้อยลงทำให้การแข่งขันสูงขึ้น ทำให้ราคาประมูลสูงกว่าความเป็นจริงก่อให้เกิดปัญหาขาดทุน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ส่งผลต่อสถานะทางเศรษฐกิจของนายทุนเหล่านี้คือการที่ไม่ได้รับการสนับสนุน และอุปถัมภ์จากราชสำนักดังที่เคยเป็นมา ทั้งยังต้องเผชิญกับคู่แข่งทางการค้าที่เกิดขึ้นใหม่อีกสองกลุ่ม ได้แก่ นายทุนชาวตะวันตก และการลงทุนของราชสำนักผ่านทางพระคลังข้างที่ และเหตุผลสำคัญประการสุดท้ายที่ทำให้นายทุนกลุ่มนี้ต้องสลายตัวไปคือวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นในการค้าข้าวในช่วงพ.ศ. 2460-2464 ซึ่งเกิดจากน้ำท่วมใหญ่ทำให้นาข้าวเสียหายกว่า 20% ของที่นาทั้งหมด บริษัท กิมเซ่งหลี ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของธุรกิจของชาวจีนที่ประสบกับภาวะขาดทุนมาตลอดในช่วงนั้น ด้วยเหตุนี้ เราจึงพบว่าพ่อค้าขุนนางจีนรุ่นเก่าหลายตระกูลจะเลิกทำธุรกิจ หันมาสนับสนุนให้ลูกหลานเรียนหนังสือ และเข้ารับราชการแทน

อย่างไรก็ตาม หลังสงครามโลกครั้งที่1 และในช่วงทศวรรษต่อมาเราเห็นการก่อตัวขึ้นของกลุ่มนายทุนจีนรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นพร้อมกับการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมในสังคมไทย นายทุนดังกล่าวมีบางส่วนที่มาจากกลุ่มเจ้าภาษีนายอากรที่พยายามปรับตัว และลงทุนในระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นพ่อค้าเอกชนที่ไม่ได้ผูกพันกับรัฐมาก่อน ตัวอย่างของนายทุนกลุ่มหลังนี้ได้แก่ ตระกูลหวั่งหลี ตระกูลล่ำซำ ตระกูลบูลสุข ตระกูลบูลกุล หรือมาบุญครอง และตระกูลเอี่ยมสุรี เป็นต้น นายทุนกลุ่มนี้จะมีลักษณะแตกต่างไปจากกลุ่มเจ้าภาษีนาอากรอยู่หลายอย่าง ประการแรกนายทุนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นชาวจีนรุ่นที่ 2 และ 3 ที่เกิดในสยามแทนที่จะเป็นผู้ที่อพยพเข้ามาจากประเทศจีน เกือบทั้งหมดไม่เคยเป็นเจ้าภาษีนายอากร หรือรับราชการเป็นขุนนางในราชสำนักของสยาม นายทุนเหล่านี้มักจะเริ่มด้วยการทำธุรกิจเล็กๆ เช่นเดินเรือค้าขายเลียบชายฝั่ง หรือค้าขายกับบริเวณชนบททำการแลกเปลี่ยนสินค้าอุปโภคบริโภคสำเร็จรูปกับ ข้าว และไม้สัก เป็นต้น แล้วจึงเริ่มก้าวเข้าสู่กิจการโรงสีข้าว และการค้าข้าวของสยามในตอนปลายรัชกาลที่ 5

สิ่งที่น่าสังเกตประการหนึ่งของนายทุนกลุ่มใหม่คือจะมีวิธีการลงทุน และทำธุรกิจในระบบทุนนิยมในลักษณะที่คล้ายคลึงกับการลงทุนของชาวตะวันตก กล่าวคือ จะเริ่มมีการทำธุรกิจแบบครบวงจร เริ่มจากการค้า ไปสู่การผลิต และขยายไปสู่การบริการต่างๆ ซึ่งเคยต้องพึ่งบริษัทตะวันตก เช่นเป็นตัวแทนให้สายการเดินเรือ ธนาคาร และบริษัทประกันภัยเป็นต้น สิ่งนี้ทำให้นายทุนกลุ่มนี้สามารถลดค่าใช้จ่าย และสะสมกำไรพอที่จะต้านทานสภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นได้ ยกตัวอย่างเช่นตระกูลหวั่งหลี ตระกูลหวั่งหลีเริ่มต้นจากการค้าสำเภา โดยเฉพาะการนำเข้าผ้า ต่อมาในพ.ศ. 2417 ได้เริ่มทำโรงสีข้าวซึ่งเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป จากนั้นก็ได้ก่อตั้งร้านค้าของตัวเองขึ้นที่สิงคโปร์ หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 บุตรหลานในตระกูลนี้ได้ร่วมก่อตั้งธนาคาร บริษัทประกันภัย และสายการเดินเรือเพื่อค้าข้าวของตัวเอง การทำธุรกิจที่หลากหลายทำให้ตระกูลหวั่งหลีสามารถผ่านพ้นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำช่วงพ.ศ. 2475 มาได้ เมื่อถึง พ.ศ. 2481 โรงสีข้าวของตระกูลหวั่งหลีจะผลิตข้าวได้ประมาณ 1,700 ตันต่อวัน หรือประมาณหนึ่งในห้าส่วนของข้าวที่สีจากโรงสีทั้งหมดของสยาม นายทุนกลุ่มนี้ยังได้สร้างเครือข่ายการค้าที่เชื่อมโยงกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัด และชนบท โดยการตั้งตนเป็นผู้นำของกลุ่มภาษา หรือกลุ่มตระกูลแซ่ เช่น ตระกูลหวั่งหลี ตระกูลบูลสุข ตระกูลเอี่ยมสุรี และตระกูลเศรษฐภักดีได้ร่วมก่อตั้งสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย ส่วนตระกูลล่ำซำก็เป็นผู้นำของชุมชนฮักกา เป็นต้น

ดังนั้น ขณะที่นายทุนขุนนางจีนกลุ่มแรกที่เติบโตมาภายใต้การอุปถัมภ์ของราชสำนัก และระบบเจ้าภาษีนายอากรต้องสลายตัวไป หรือเมื่อถึงสมัยของลูกหลานได้ปรับเปลี่ยนบทบาทมาเป็นข้าราชการ นายทุนจีนรุ่นหลังจะสามารถสืบสานธุรกิจของตนเองได้ดีกว่า และจะกลายเป็นกลุ่มนักธุรกิจเชื้อสายจีนที่พัฒนาขึ้นเป็นนายทุนพาณิชย์ซึ่งมีบทบาทต่อมาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

๑๓
หน้า ๑๓ จาก ๒๒ หน้า