หน้าที่ของตำรวจที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน คือ ตำรวจเป็นหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่ควบคุมสังคมเบื้องต้น ปฏิบัติงานใกล้ชิดประชาชนที่สุด รับผิดชอบเกี่ยวการรักษาความสงบภายใน บำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎร รักษากฎหมาย ดูแลสาธารณประโยชน์ รวมไปถึงปกป้องชีวิต และทรัพย์สินของราษฎร หน้าที่ราชการส่วนนี้เป็นแนวคิดใหม่ที่ไทยรับมาจากวัฒนธรรมตะวันตก ในอดีตราชการไทยไม่เคยมีหน่วยงานใดรับผิดชอบงานด้านนี้มาก่อน ซึ่งอาจจะเป็นเพราะยังมีประชากรเบาบาง และพื้นที่อุดมสมบูรณ์จึงมีความขัดแย้งกันน้อย สังคมไทยค่อนข้างสงบ จนรัฐบาลไม่เคยต้องมีหน่วยงานทำหน้าที่ดังกล่าวอย่างจริงจัง เมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป และรัฐบาลไทยถูกกงสุลฝรั่งเศสเรียกร้องให้จัดตั้งกองกำลังสำหรับพิทักษ์สันติราษฏร์ขึ้นในสมัยรัชกาลที่4 เราเรียกชื่อหน่วยงานใหม่นี้ว่า “กรมโปลิศ”ตามอังกฤษที่เป็นแม่แบบ ในรัชกาลต่อมาได้มีการปฏิรูปงานตำรวจเสียใหม่พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อเป็นภาษาไทยว่า “กรมกองตระเวน” แต่ก็ยังไม่เหมาะสมจึงมีการเปลี่ยนอีกครั้งเป็น “กรมตำรวจนครบาล”
ในอดีตภายใต้การปกครองระบบจตุสดมภ์ ยังไม่มีหน่วยงานใดทำหน้าที่เหมือนกรมตำรวจในปัจจุบัน แต่หน้าที่คล้ายๆกันนี้ได้แทรกอยู่ในกรมเวียง (กรมพระนครบาล) ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของสมุหนายก กรมพระนครบาลมีหน้าที่ดูแลความเป็นอยู่ของราษฎรในเขตพระนคร รักษาความสงบเรียบร้อย ปราบปรามโจรผู้ร้าย และลงโทษผู้กระทำผิด โดยมี “กองตระเวน” ทำหน้าที่ตรวจตรารักษาความสงบทั้งกลางวัน และกลางคืน และรักษาการณ์ตามด่านที่มีผู้คนผ่านไปมาจำนวนมาก คอยจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมาย แล้วส่งให้กรมพระนครบาลพิจารณาคดี และตัดสินลงโทษ
ส่วนคำว่า”ตำรวจ” นั้นมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว คือ “กรมพระตำรวจ” ซึ่งเป็นทหารรักษาพระองค์ขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ ปฏิบัติหน้าที่รับใช้ อารักขา และสนองพระบรมราชโองการอยู่ในพระบรมมหาราชวัง หากเกิดเหตุร้าย หรือเหตุจลาจลใหญ่เกินกำลังกรมพระนครบาล เช่น จลาจลอั้งยี่ จึงจะทรงโปรดฯให้กรมพระตำรวจออกมาช่วยระงับเหตุ
เศรษฐกิจการค้าของไทยขยายตัวขึ้นมากในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ส่งผลให้บ้านเมืองที่เคยสงบเปลี่ยนเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยอบายมุข ทั้งสูบฝิ่น เล่นการพนัน และดื่มสุรา เป็นสาเหตุให้มีการก่อเหตุร้ายกันมากขึ้น โจรผู้ร้ายชุกชุม และฉวยโอกาสที่เจ้าหน้าที่มีน้อยดูแลควบคุมไม่ทั่วถึงออกปล้นจี้ และข่มเหงราษฎร ต่อมาหลังสนธิสัญญาเบาว์ริงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ถนนหนทาง และบ้านเรือนหนาแน่นซับซ้อนยิ่งขึ้น ผู้คนทั้งไทย และต่างชาติมีโอกาสทำมาหากินมีทรัพย์สินมีค่าส่วนตัวเพิ่มมากขึ้น การเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของไทยตามสนธิสัญญา ทำให้ชาวต่างชาติที่เข้ามาทำมาหากินในไทยจำนวนหนึ่งเข้าอยู่ในความคุ้มครองของกงสุลยุโรป ที่เรียกกันว่า “พวกร่มธง” หรือ “Subject” คิดไปว่าตนเองมีอำนาจเหนือกฎหมายไทย จึงก่อคดีความกันมาก ในขณะที่การพิจารณาคดีความนั้นทั้งล่าช้า และล้าหลัง สภาพบ้านเมืองที่เปลี่ยนไป ทำให้ระบบการรักษาความสงบปลอดภัยรูปแบบเดิมไม่อาจแก้ไขปัญหาความวุ่นวายได้ เจ้าพนักงานที่มีอยู่ขาดความรู้ ความชำนาญ ขาดระเบียบวินัย และประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ การปฏิรูปกิจการตำรวจจึงเป็นงานที่ผู้ปกครองบ้านเมืองต้องทำโดยด่วน
การปรับปรุงกิจการตำรวจในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น เพราะไทยยังขาดแคลนทั้งกำลังงบประมาณ และบุคลากร พ.ศ.2404 รัฐบาลไทยได้ว่าจ้าง กัปตันเอมส์ (S. J. Bird Ames) (หลวงรัถยาภิบาลบัญชา) ชาวอังกฤษมาเป็นผู้บังคับการกองตระเวน กัปตันเอมส์ดำเนินการจัดตั้งเป็นกองโปลิศแบบยุโรป โดยเมื่อแรกเริ่ม พลโปลิศเป็นชาติแขก มลายู และอินเดีย ที่เป็นลูกเรือของกัปตันเอมส์มาก่อน ต่อมาจึงขยายไปว่าจ้างคนไทย และคนที่เคยเป็นพลตระเวนในอินเดีย และสิงคโปร์ เรียกชื่อว่า “กองโปลิศคอนสเตเบิล” (Police Constable) แต่คนทั่วไปเรียกว่า “หมาต๋า” ตามภาษามลายู หรือเรียกว่า “ไอ้แข้งแดง” เพราะเครื่องแบบมีผ้าแดงพันที่หน้าแข้ง
เนื่องจากยังขาดกำลังคน กองโปลิศในสมัยเริ่มต้นจึงมุ่งรักษาความสงบเรียบร้อยเฉพาะในเขตชุมนุมชนที่มีคนอาศัยอยู่หนาแน่น โดยเริ่มปฏิบัติหน้าที่ครั้งแรกในท้องที่สำเพ็ง ที่ทำการตั้งอยู่ใกล้โรงกระทะ กองปลิศดูแลเฉพาะในเขตกำแพงเมือง ส่วนนอกกำแพงเมืองจะมีทหารจากกรมทหารหน้าทำหน้าที่ตรวจตรา จนถึงพ.ศ.2426 ทหารหน้าขอถอนกำลังออกเพราะต้องไปฝึกเตรียมตัวไปปราบจีนฮ่อในลาว กองโปลิศจึงต้องจ้างคนเพิ่ม แต่เมื่อเกิดเหตุจลาจลก็ยังคงต้องขอความช่วยเหลือไปยังกรมยุทธนาธิการ และกรมทหารเรือ
หลังเปลี่ยนแปลงระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กรมหมื่นนเรศวรฤทธิ์ เสนาบดีกรมพระนครบาลได้ทรงเร่งแก้ไขจัดการกองตระเวนเสียใหม่ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทรงรวบรวมกองตระเวนต่างๆที่แยกกันอยู่ คือ กองตระเวนรักษาชั้นใน กองตระเวนรักษาชั้นนอก กองไต่สวน กองโทษหลวง กองตระเวนรักษาการรถไฟ ให้รวมกัน เรียกว่า “กรมกองตระเวน” โดยมีนโยบายว่าจะจ้างนายโปลิศที่มีความรู้ความชำนาญอย่างแท้จริง มาจัดวางระเบียบแบบแผนให้มั่นคงแบบอังกฤษ รัฐบาลไทยได้ขอยืมตัวนาย เอ. เจ. จาร์ดีน (A. .J. Jardine) ชาวอังกฤษมาจากกองตระเวนของอินเดีย มาเป็นผู้บังคับการกรมกองตระเวนอยู่ 4 ปี (ระหว่าง พ.ศ. 2440 – 2444) ในระยะแรกเริ่มนี้ กิจการกรมกองตระเวนได้มีการจัดตั้งขึ้นอย่างสมบูรณ์เฉพาะในเขตกรุงเทพ ฯ ชั้นในเท่านั้น จนกระทั่งนายอีริก เซนต์จอห์น ลอว์สัน (Eric St. John Lawson) ผู้บังคับการคนต่อมา เข้ามาดำเนินการต่อจนเป็นระเบียบเรียบร้อยในทุกเขต ตลอดระยะ เวลาที่ผ่านมา มีชาวอังกฤษได้รับเลือกให้เข้ารับราชการในกรมกองตระเวนทั้งสิ้น 16 นาย โดยในด้านการบริหารจัดการทั่วไปจะยึดตามแม่แบบตำรวจอังกฤษเป็นหลัก ส่วนในการออกพื้นที่ พลตระเวนนั้นใช้แขกซิกข์เพราะตัวโต มีระเบียบวินัย และพูดภาษาอังกฤษได้
นอกจากนี้ กรมกองตระเวนได้จัดตั้ง “โรงเรียนนายหมวด”ในพ.ศ.2452 เพื่อผลิตนายตำรวจสัญญาบัตร ซึ่งต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ในพ.ศ.2458 ได้มีการยุบรวมไปกับ “โรงเรียนนายตำรวจภูธร” (จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2444) กลายเป็น “โรงเรียนนายร้อยตำรวจ” เนื่องด้วยในปีนั้นได้มีการย้ายสังกัดกรมตำรวจภูธรจากกระทรวงมหาดไทย มารวมกับ กรมกองตระเวน กระทรวงนครบาล ตั้งเป็น “กรมตำรวจ” ตามพระประสงค์ของรัชกาลที่ 6 ที่จะรวมกิจการตำรวจทั้งหมดให้อยู่ภายใต้การดูแลของเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เสนาบดีกระทรวงนครบาลที่พระองค์ทรงไว้วางพระราชหฤทัย แต่ต่อมามีอุปสรรคในการบริหารงาน จึงได้มีการยุบกระทรวงนครบาลมารวมกับกระทรวงมหาดไทยใน พ.ศ.2465 มีผลให้ทั้งกรมตำรวจย้ายมาสังกัดกระทรวงมหาดไทยจวบจนถึงปัจจุบัน