พระที่นั่งองค์นี้ ต่อเนื่องกับท้องพระโรงหน้าพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานทางด้านเหนือ สร้างทอดยาว จากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก มีความยาว ๓๕ เมตร กว้าง ๘ เมตร ยกพื้นสูงประมาณ ๒ เมตร ตอนกลาง องค์พระที่นั่งที่ต่อเนื่องกับท้องพระโรงหน้า ทำเป็นคูหาเปิดโล่ง มีอัฒจันทร์ทางขึ้นลงตอนกลาง และมีอัฒจันทร์ ขึ้นลงทางเฉลียงชั้นลดของปีกพระที่นั่งทั้ง ๒ ด้านอีกด้วย
หลังคามุงกระเบื้องเคลือบสี มีเครื่องตกแต่งเช่นเดียวกับหลังคาพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน หน้าบันพื้น ประดับกระจก ประกอบลายจำหลักเป็นรูปสมเด็จพระอมรินทราธิราชประทับเหนือวิมานปราสาทสามยอด มีลาย กระหนกลายก้านขดหัวนาคเป็นลายล้อมเช่นเดียวกับหน้าบันพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน
ฝ้าเพดานภายในทาสีแดงประดับดวงดาราฉลุลาย ลงรักปิดทอง ล่องชาด ประดับกระจก ตัวขื่อ และฝ้าเพดานภายนอกปิดทองลายฉลุ
ด้านเหนือพระที่นั่งองค์นี้ต่อเนื่องกับพระที่นั่งอมริทรวินิจฉัย มีพระบัญชรเปิดสู่ภายในองค์พระที่นั่ง พระอมริทรวินิจฉัยรวม ๑๐ ช่อง มีพระทวารเทวราชมเหศวร (ชื่อพระทวารเทวราชมเหศวรนี้ เป็นชื่อตั้งใน รัชกาลที่ ๔ เดิมเรียกว่าพระทวารา (ดูพระราชานุกิจ พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๕)) เป็นพระทวารสำหรับ เสด็จพระราชดำเนินออกพระที่นั่งอมริทรวินิจฉัยอยู่กึ่งกลาง สุดองค์พระที่นั่งด้านตะวันออกมีพระทวารสำหรับ เสด็จพระราชดำเนิน ไปยังหอพระสุราลัยพิมาน และสุดองค์พระที่นั่งด้านตะวันตกมีพระทวารสำหรับเสด็จ พระราชดำเนินไปยังหอพระธาตุมณเฑียร
เรือนแก้วพระบัญชรพระที่นั่งไพศาลทักษิณนี้ สำหรับพระบัญชรที่เปิดออกสู่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย และที่เปิดออกสู่ท้องพระลานในเขตพระราชฐานชั้นกลางมีเรือนแก้วเป็นซุ้มบันแถลง นอกนั้นเป็นเรือนแก้ว ลายดอกเบญจมาศ หน้าบานเขียนลายรดน้ำทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ หลังบานเขียนสีเป็นรูปเทพยายืนแท่น พระหัตถ์ ถือพระขรรค์ เฉพาะพระทวารเทวราชมเหศวร หน้าบานจำหลักเป็นรูปพระอิศวร ลายจำหลักนูนเด่นงดงามเป็น ที่สุด หลังบานเขียนสีเป็นรูปเสี้ยวกางทวารบาลตามคตินิยมของจีน หน้าบานพระบัญชรด้านใต้ เขียนลานน้ำทองรูปกอบัว
ผนังภายในเขียนภาพแต่พื้นจดเพดาน ตอนบนเหนือแนวพระทวารและพระบัญชรเขียนเป็นภาพอัน เกี่ยวกับเทพเจ้าทั้ง ๓๒ พระองค์ บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ส่วนผนังตอนล่างระหว่างช่องพระบัญชรด้านเหนือ ด้าน ตะวันออก และด้านตะวันตก เขียนภาพพระนารายณ์ปางต่างๆ ผนังระหว่างช่องคูหาทางออกสู่เฉลียงชั้นลดกับ ทางออกสู่ท้องพระโรงเขียนเป็นรูปฉัตรและบังแทรกสลับกัน
พระที่นั่งไพศาลทักษิณนี้ เป็นที่ประดิษฐานปูชนียวัตถุสำคัญ ๓ อย่าง ที่ตอนกลางองค์พระที่นั่งตรง พระทวารเทวราชมเหศวร เป็นพระวิมานประดิษฐาน “พระสยามเทวธิราช” ซึ่งเป็นปูชนียวัตถุที่สำคัญ อย่างหนึ่งของชาติ และเป็นปูชนียวัตถุที่สมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าทรงเคารพสักการะอย่างยิ่ง เกือบสุด องค์พระที่นั่งด้านบูรพาทิศตรงหน้าพระทวารที่ลงจากหอพระสุราลัยพิมานประดิษฐานพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพร- ราชอาสน์ กางกั้นพระบวรเศวตฉัตร (พระที่นั่งองค์นี้เป็นที่ๆ สมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าประทับรับน้ำ อภิเษกในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก) ส่วนตอนหน้าพระทวารที่ลงจากหอพระธาตุมณเฑียรซึ่งอยู่สุด องค์พระที่นั่งด้านปัศจิมทิศ ประดิษฐานพระที่นั่งภัทรบิฐกางกั้นพระมหาเศวตฉัตร (พระที่นั่งภัทรบิฐนี้ เป็นที่ๆ สมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าประทับรับเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ เครื่องบรมราชูปโภคอันเป็น โบราณมงคล รับพระแสงราชศาสตราวุธและพระแสงอัษฎาวุธ ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก)
ในอดีต สมัยเมื่อสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชประทับอยู่ ณ พระที่นั่งในหมู่พระมหามณเฑียร ก็จะ ทรงใช้พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานเป็นที่บรรทม และเป็นที่ประทับในลักษณะของห้องไปรเวท และทรงใช้พระ ที่นั่ง ไพศาลทักษิณเป็นที่ประทับทรงพระสำราญ หรือประกอบพระราชกรณียกิจบางอย่าง ในลักษณะเช่นบุคคล สามัญจะพึงใช้หอนั่งในเรือนตนบางโอกาสก็ได้เสด็จออก ณ พระที่นั่งนี้เพื่อให้พระบรมวงศ์หรือข้าราชบริพาร ชั้นผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทและทรงไว้วางพระราชหฤทัยเข้าเฝ้าทูลละออกธุลีพระบาท หรือบาง โอกาสก็เสด็จออกทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นการภายใน
ในปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งเป็นกาลเวลาที่สมเด็จพระมหา กษัตริยาธิราชเจ้าพระองค์นั้นทรงพระชรามากแล้ว และซ้ำยังมีพระโรคาพาธมาเบียดเบียน จนทำให้พระองค์ หมดพระกำลังวังชา ไม่สามารถที่จะเสด็จพระราชดำเนินออกขุนนางในพระที่นั่งอมรินทราวินิจฉัย ดังที่ได้ ทรงปฏิบัติเป็นขัตติยานุวัตรมาช้านานแล้วนั้นได้ แต่ด้วยความที่ทรงเป็นห่วงในความทุกข์สุขของอาณา- ประชาราษฎร และทรงเป็นห่วงใยในราชการแผ่นดิน จึงไม่อาจที่จะทรงละเว้นการเสด็จออกขุนนางเพื่อฟัง ข้อราชการ และสั่งบริหารราชการแผ่นดินด้วยพระองค์เองได้ จึงได้เสด็จฯ ออกมาบรรทมอยู่ ณ พระที่นั่ง ไพศาลทักษิณนี้ และทุกเวลาเช้า ก็ได้ทรงพระราชอุตสาหะเสด็จฯ ออกประทับ ณ ช่องพระบัญชร โปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทกราบบังคมทูลข้อราชการอยู่ที่ชานชาลา ข้างพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยด้านตะวันตก
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระปฐมบรมกษัตริย์แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ ๗ กันยายน พุทธศักราช ๒๓๕๒ เวลา ๐๓.๒๘ นาที
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้เสด็จขึ้นเถลิงไอยสวรรยาธิปัตย์สืบพระราชสันตติวงศ์ ต่อจากสมเด็จพรบรมชนกนาถนั้น ได้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ณ พระที่นั่งในหมู่พระมหามณเฑียรนี้ โดยตั้งพระมณฑปพระกระยาสนานสรงพระมูรธาภิเษก ที่ท้องพระลานข้างท้องพระโรงหน้าพระที่นั่งจักรพรรดิ- พิมาน ด้านบูรพทิศ ส่วนสำคัญของการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งได้แก่การรับการถวายน้ำอภิเษก รับการ ถวายสิริราชสมบัติ รับเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ เครื่องบรมราชาภรณ์ เครื่องบรมราชูปโภคพระแสงอัษฎาวุธ ตลอดจนรับการถวายนพปฎลมหาเศวตฉัตร นั้น ทำภายในพระที่นั่งไพศาลทักษิณทั้งสิ้น พระที่นั่งองค์นี้จึง เป็นพระราชพิธีมณฑลที่สำคัญที่สุดในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
สำหรับพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เป็นที่ประกอบพิธีจุดเทียนชัย และเป็นที่เสด็จพระราชดำเนินออก มหาสมาคม ส่วนพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานเป็นพระราชพิธีมณฑลในการพระราชพิธีเสด็จขึ้นเฉลิมพระราชมณเฑียร
การพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลต่อๆ มา ก็ได้จัดขึ้น ณ สถานที่เดียวกันนี้ตลอดมา