สารบัญ
“พี่จิระประวัติ” - “ชายอาภากร”
“พี่จิระประวัติ” (พระองค์เจ้าชายจิรประวัติวรเดช)

ประสูติเมื่อวันอังคาร เดือน ๑๒ แรม ๖ ค่ำ ปีชวด อัฐศก จุลศักราช ๑๒๓๘  ตรงกับวันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๑๙ ลำดับที่ ๑๘ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ได้ทรงศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ แล้วเสด็จไปทรงศึกษาวิชาทหารบก ณ ประเทศเดนมาร์ก ได้ทรงเป็น ราชทูตพิเศษต่างพระองค์ไปในราชการพิเศษบางอย่างตั้งแต่ยังทรงประทับอยู่ยุโรป

เมื่อปีชวด โทศก จุลศักราช ๑๒๖๒ พ.ศ. ๒๔๔๓ รัชกาลที่ ๕ ทรงสถาปนาเป็นกรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จไปเล่าเรียนวิชาในประเทศยุโรป ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ พระชนมายุเพียง ๙ พรรษา ได้ทรงศึกษาวิชาการฝ่ายทหาร ตามแบบอย่างประเทศเดนมาร์ก โดยความชำนิชำนาญ รอบรู้ในยุทธวิธี จนครั้งเมื่อสมเด็จพระเจ้าเอมเปอเรอกรุงรัสเซียได้ทูลขอพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อเสด็จ ราชดำเนินประพาสประเทศยุโรป ให้พระเจ้าลูกยาเธอเสด็จช่วยในการประลองยุทธ์ ครั้นเมื่อเสร็จการแล้ว สมเด็จ- พระเจ้าเอมเปอเรอพระองค์นั้น ได้มีพระราชหัตถเลขามายังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสรรเสริญความว่องไว สามารถ และความรู้ของพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดชเปนอันมาก และเมื่อเสด็จอยู่ในประเทศยุโรป นั้น ได้รับหน้าที่ต่างพระองค์ไปช่วยการบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้านิคอลาสที่ ๒ พระเจ้ากรุงรัสเซีย และไปช่วย ในการรัชฎาภิเษกสมเด็จพระเจ้าออสคาร์ พระเจ้ากรุงสวีเดน และนอร์เวย์ และเมื่อเวลาเสด็จพระราชดำเนินไปประพาส ประเทศยุโรป ก็ได้ตามเสด็จพระราชดำเนินไปเกือบจะทั่วทุกราชสำนัก เปนที่ทรงรู้จักคุ้นเคยของพระเจ้าแผ่นดิน และเจ้านายในนานาประเทศทั่วทุกพระนคร ย่อมสรรเสริญพระอัธยาศัย และวิชาความรู้ของพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นี้ ทั่วทุกสถาน ครั้งเมื่อเสด็จเข้ามารับราชการในกรุงเทพฯ  ทรงรับตำแหน่งเสนาธิการในกองทัพบก ได้ทรงจัดการ บำรุงโรงเรียนฝ่ายทหาร ให้รุ่งเรืองขึ้นกว่าแต่ก่อน ภายหลังได้ทรงบังคับการทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ และดำรง ตำแหน่งหลักทัพบกได้ทรงจัดการวางแบบอย่าง และบำรุงการในกรมทหารบกให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นเปนอันมาก  บัดนี้ มีพระชนมายุเจริญวัยกอปรด้วยพระสติปัญญาสามารถ สมควรที่จะเปนพระองค์เจ้าต่างกรม รับราชการฉลองพระเดช พระคุณต่างพระเนตรพระกรรณ พระองค์หนึ่งได้

จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สถาปนาพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช เปนพระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช นาคนาม ทรงศักดินา ๑๕,๐๐๐ ตามพระราชกำหนดอย่างพระองค์เจ้าต่างกรมในพระบรมมหาราชวัง

เจ้ากรม เปนหมื่นนครไชยศรีสุรเดช ถือศักดินา ๖๐๐
ให้ทรงตั้ง ปลัดกรม เปนหมื่นเกษตรปฐมธานี ถือศักดินา  ๔๐๐
สมุหบาญชี เปนหมื่นสาครบุรีพลประชุม ถือศักดินา ๓๐๐

ได้ทรงเป็นนายพลเอก ราชองครักษ์ ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ

เมื่อปีจอ โทศก จุลศักราช ๑๒๗๒ พ.ศ. ๒๔๕๔ รัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้น เปนกรมหลวงฯ

มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้เลื่อน พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดชขึ้นเปน กรมหลวง มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช   นาคนาม ให้ทรงศักดินา ๑๕,๐๐๐ ตามพระราชกำหนดอย่างพระองค์เจ้าต่างกรมในพระบรมมหาราชวัง

เจ้ากรม เปนหลวงนครไชยศรีสุรเดช ถือศักดินา ๘๐๐
ให้ทรงเลื่อน ปลัดกรม เปนขุนเกษตรปฐมธานี ถือศักดินา  ๖๐๐
สมุหบาญชี คงเปนหมื่นสาครบุรีพลประชุม ถือศักดินา ๔๐๐

ต่อมาได้ทรงเลื่อนยศขึ้นเป็นจอมพลทหารบก และดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม

สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๖ เมื่อวันพุธ เดือน ๓ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ปีฉลู เบญจศก จุลศักราช ๑๒๗๕ ตรงกับวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๖

พระชันษา ๓๘ ปี

ทรงเป็นต้นราชสกุล  จิรประวัติ

ที่ ๑ ในเจ้าจอมมารดาทับทิม โรจนดิศ (ท่านเป็นธิดาพระยาอัพภันตริกามาตย์ (ดิศ โรจนดิศ) กับขรัวยายอิ่ม)

พระองค์เจ้าชายมนุษยยาคมานพ

ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๕ แรม ๗ ค่ำ  ปีวอก โทศก จุลศักราช ๑๒๒๒ ตรงกับวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๐๓ ลำดับที่ ๔๗ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ใน พ.ศ. ๒๔๒๒ เมื่อพระชนมายุครบ ๒๐ พรรษา ได้ทรงผนวชเป็นพระภิกษุโดยมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงเป็นอุปัชฌาย์ และพระจันทรโคจรคุณ (จันทรรังสี ยิ้ม) เป็น พระกรรมวาจาจารย์ ได้ประทับจำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหารตลอดกาลพระชนม์ชีพ

ในปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๒๔ รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ สถาปนาเฉลิมพระยศขึ้นเป็น กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าพระมนุษยนาคมานพ เมื่อยังเสด็จอยู่ในฆราวาสวิสัยได้รับราชการ ฉลองพระเดชพระคุณเปนเจ้าพนักงานสารบบความฎีกาก็ทรงพระอุตสาหะพากเพียรมิได้เกียจคร้านย่อหย่อน ทั้งในเวลานั้นก็กำลังทรงเรียนพระปริยัติธรรมอยู่ด้วยก็ทรงพระอุตสาหะมิได้ขาดทั้งราชการและการเล่าเรียน และประพฤติพระองค์สันโดษสุภาพเรียบร้อยดีมีศรัทธาเชื่อถือในพระรัตนตรัยเปนอย่างยิ่ง จนทรงพระกรุณา เห็นว่าพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าพระมนุษยนาคมานพ คงจะทรงพระผนวชยืนยาวในพระพุทธศาสนา ได้เปนแท้ จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสถาม ก็ได้กราบบังคมทูลว่า ถ้าจะลาผนวชแล้วคงจะลาผนวช ในฝน ที่แรก จึงมีพระบรมราชโองการเปนคำปฏิญาณไว้ว่า เมื่อใดนับแต่พระองค์เจ้าพระมนุษยนาคมานพ ทรง ผนวชครบ ๓ ฝนแล้ว จะพระราชทานอิสริยยศเลื่อนขึ้นเปนพระองค์เจ้าต่างกรมฝ่ายบรรพชิต การซึ่งดำรัส ไว้นี้ดังนี้ก่อนแต่พระองค์เจ้าพระมนุษยนาคมานพทรงผนวชเปนช้านาน ครั้นถึงกาลกำหนดพระชนมายุ พระองค์เจ้าพระมนุษยนาคมานพทรงผนวชในพระพุทธศาสนา จำเดิมแต่นั้นมาก็ทรงเล่าเรียนพระปริยัติธรรม ด้วยอุตสาหะความเพียรอันแรงกล้า จนภายหลังได้แปลพระคัมภรี์ในที่ประชุมพระราชาคณะผู้ใหญ่ ใน พระที่นั่งบรมราชสถิตมโหฬาร ได้ถึงที่ ๕ ประโยคติดต่อกันโดยฉับไว มิได้เปนที่สงสัยเคลือบแคลงแห่งผู้รู้ ทั้งปวง เปนที่สรรเสริญทั่วหน้า

อีกประการหนึ่ง พระองค์เจ้าพระมนุษยมาคมานพนี้ก็บรูบูรณ์ไปด้วยอุปโภคศฤงคารทั้งฝ่ายคฤหัสถ์ ก็เสมอด้วยพระเจ้าน้องยาเธอทั้งปวง มิได้มีความข้องขัดในสิ่งอันใด ทั้งพระสติปัญญาวิชาคุณก็ว่องไวในราชกิจ น้อยใหญ่ และทราบภาษาอังกฤษก็มาก ถ้าเสด็จอยู่เปนคฤหัสถ์ก็คงจะได้รับราชการฉลองพระเดชพระคุณมี ตำแหน่งเปนที่ไว้วางพระราชหฤทัยได้เปนแท้ ซึ่งทรงบากบั่นหันไปฝ่ายข้างบรรพชิตดังนี้ ก็ควรเห็นชัดว่า ทรงศรัทธาเชื่อถือพระรัตนตรัยเปนแท้ แลเห็นความสุขในสมณเพศปฏิบัติ ซึ่งเปนความสุขอันละเอียดอย่างยิ่ง เปนมหัศจรรย์

จึงทรงพระราชดำริว่า พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าพระมนุษยนาคมานพถึงยังมีพระชนมายุน้อยอยู่ก็ดี แต่ประกอบด้วยศิลาทิคุณวิบุลยปรีชารอบรู้ในพระปริยัติธรรมสมควรดำรงฐานันดรศักดิ์โดยตำแหน่งในราชตระกูล และพระพุทธศาสนาได้ตามที่ได้ทรงปฏิญาณไว้แต่ในกาลก่อนนั้น ควรเปนที่เคารพบูชาของพุทธศาสนิกชน ทั่วหน้า จึงมีพระบรมราชโองการมานบัณฑูรสุรสิงหนาท ดำรัสสั่งให้สถาปนาเลื่อนตำแหน่งยศ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าพระมนุษยนาคมานพ ขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมมีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส สุนทรพรตวิสุทธิพรหมจรรย์ วิมลศีลขันธ์ธรรมวรยุต ศรีวิสุทธิคณานุนายกสาสนดิลก ธรรมานุวาท บริษัทนาถบพิตร เสด็จสถิต ณ วัดบวนนิเวศวรารามวิหาร พระอารามหลวง มุสิกนามได้ทรงศักดินา ๑๕,๐๐๐ ตามพระราชกำหนดอย่างพระองค์เจ้าต่างกรมใน พระบรมมหาราชวังและดำรงอิสริยยศฝ่ายสมณศักดิ์เปนเจ้าคณะรอง ในธรรมยุติกนิกายิกสงฆ์ มัธยมบวรนิเวศสาทิคณะ พระราชทานนิตยภัตรเปนยศบูชาราคาเดือนละ ๖ ตำลึง ขออาราธนาให้ทรงรับธุระ พระพุทธศาสนาเปนภาระสั่งสอน ช่วยระงับอธิกรณ์พระภิกษุสงฆ์และสามเณรในพระอารามซึ่งขึ้นในคณะ โดยสมควรแก่กำลัง และอิสริยยศสมณศักดิ์ซึ่งพระราชทานมานี้จงทรงเจริญพระชนมายุ พรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณคุณสาร ศิริสวัสดิ์สถาพรพิพัฒน์จิรฐิติกาลในพระพุทธศาสนา เทอญ

เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาในตำแหน่งอิสริยยศดั้งนี้แล้ว

เจ้ากรม เปนหมื่นวชิรญาณวโรรส ถือศักดินา ๖๐๐
ให้ทรงตั้ง ปลัดกรม เปนหมื่นวรพรตบำรุง ถือศักดินา  ๔๐๐
สมุหบาญชี เปนหมื่นผดุงพยุหพล ถือศักดินา ๓๐๐

ในปีะมะเมีย พ.ศ. ๒๔๔๙ รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระยศขึ้นเปน กรมหลวง

จึงมีพระบรมราชโองการ ดำรัสสั่งให้สถาปนาเลื่อนพระเกียรติยศ พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ขึ้นเปนพระองค์เจ้าต่างกรมใหญ่ ตามในฝ่ายบรมราชกตระกูลมีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวชิรญาณวโรรส สุนทรพรตวิสุทธิพรหมจรรย์ วิมลศีลขันธ์ธรรมวรยุต ศรีวิสุทธิคณนุนายก สาสนดิลกธรรมานุวาทบริสัษยนาถสมณุดมบรมบพิตร เสด็จสถิต ณ วัดบวรนิเวศราชวรารามวิหาร พระอารามหลวงมุสิกนาม ทรงศักดินา ๑๕,๐๐๐ ตามพระราชกำหนด อย่างพระองค์เจ้าต่างกรมในพระบรมมหาราชวัง

เจ้ากรม เปนหลวงวชิรญาณวโรรส ถือศักดินา ๖๐๐
ให้ทรงเลื่อน ปลัดกรม เปนขุนวรพรตบำรุง ถือศักดินา  ๕๐๐
สมุหบาญชี คงเปนหมื่นผดุงพยุหพล ถือศักดินา ๓๐๐

ใน พ.ศ. ๒๔๕๓ รัชกาลที่ ๖ ทรงสถาปนาเฉลิมพระยศขึ้นเป็นสมเด็จกรมพระยา

สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๖ เมื่อวันอังคาร เดือน ๘ แรม ๑๔ ค่ำ ปีระกา ตรีศก จุลศักราช ๑๒๘๓ ตรงกับ วันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๔

พระชันษา ๖๒ ปี ทรงอยู่ในสมณเพศ ๔๓ พรรษา

ที่ ๔ ในเจ้าจอมมารดาแพ

“พี่ประวิตร” (พระองค์เจ้าชายประวิตรวัฒโนดม)

ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๖ แรม ๘ ค่ำ ปีกุน สัปตศก จุลศักราช ๑๒๓๗ ตรงกับวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๑๘ ลำดับที่ ๑๕ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ได้เสด็จไปทรงศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ และฝรั่งเศส

ในปีขาล จัตวาศก จุลศักราช ๑๒๖๔ พ.ศ. ๒๔๔๕ รัชกาลที่ ๕ ทรงสถาปนาเป็นกรมหมื่นปราจิณกิติบดี

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม ได้เสด็จออกไปเล่าเรียนวิชา ณ ประเทศยุโรปช้านาน ครั้นเมื่อเสด็จกลับเข้ามายังกรุงเทพ ฯ ได้รับราชการในกรมราชเลขานุการ ภายหลังได้ทรงเปนผู้ช่วยราชการ ในกระทรวงวัง ครั้นเมื่อว่างเสนาบดีก็ได้ทรงรั้งตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวังจนตลอดเวลามีเสนาบดีใหม่ จึงได้กลับมารับราชการในกรมราชเลขานุการ ทรงพระอุตสาหะในราชกิจสมควรแก่หน้าที่ บัดนี้ก็ทรงเจริญ พระชนมายุ และทรงพระปรีชารอบรู้ในราชการสมควรที่จะดำรงพระเกียรติยศ เปนพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้า ต่างกรมพระองค์หนึ่งได้

จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สถาปนาพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโรดม ขึ้นเปน พระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าลูกยาเธอ  กรมหมื่นปราจิณกิติบดี มุสิกนาม ทรงศักดินา ๑๕,๐๐๐ ตามพระราชกำหนดอย่างพระองค์เจ้าต่างกรมในพระบรมมหาราชวัง

เจ้ากรม เปนหมื่นปราจิณกิติบดี ถือศักดินา ๖๐๐
ให้ทรงตั้ง ปลัดกรม เปนหมื่นชลบุรีอภิรมย์ ถือศักดินา  ๔๐๐
สมุหบาญชี เปนหมื่นพนมสารพลารักษ์ ถือศักดินา ๓๐๐

เมื่อปีกุน ตรีศก จุลศักราช ๑๒๗๓ พ.ศ. ๒๔๕๔ รัชกาลที่ ๖ ได้เป็นราชเลขานุการ ฝ่ายต่างประเทศ เป็นสมุหมนตรี และได้เลื่อนเป็นกรมหลวง

จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้เลื่อน พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นปราจิณกิติบดี ขึ้นเปน กรมหลวง มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าพี่ยาเธอกรมหลวงปราจิณกิติบดี มุสิกนาม ให้ทรงศักดินา ๑๕,๐๐๐ ตามพระราชกำหนดอย่างพระองค์เจ้าต่างกรมในพระบรมมหาราชวัง

เจ้ากรม เป็นหลวงปราจิณกิติบดี ถือศักดินา ๘๐๐
ให้ทรงเลื่อน ปลัดกรม เปนขุนชลบุรีอภิรมย์ ถือศักดินา  ๖๐๐
สมุหบาญชี คงเปนหมื่นพนมสารพลารักษ์ ถือศักดินา ๔๐๐

ทรงเป็นเสานาบดีตำแหน่งราชเลขาธิการ

สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๖ เมื่อวันอังคาร เดือนอ้าย แรม ๒ ค่ำ ปีมะแม เอกศก จุลศักราช ๑๒๘๑ ตรงกับวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๒

พระชันษา ๔๕ ปี

ทรงเป็นต้นราชสกุล ประวิตร

เจ้าจอมมารดาแช่ม (ท่านเป็นธิดาพระยามหาอำมาตย์ (ชื่น กัลยาณมิตร))

“ชายบริพัตร” (สมเด็จเจ้าฟ้าชายบริพัตรสุขุมพันธ์ ดิลกจันทรนิภาพงศ์ มหามกุฎวงศ์นราธิราช จุฬาลงกรณนาถราชวโรรส อดุลยยศอุภโตพงศ์พิสุทธิ์ นรุตมรัตนขัตติยราชกุมาร)

ประสูติเมื่อวันพุธ เดือน ๘ ขึ้น ๓ ค่ำ  ปีมะเส็ง ตรีศก จุลศักราช ๒๓๔๓ ตรงกับวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๒๔ ลำดับที่ ๓๖ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ได้เสด็จไปทรงศึกษาในประเทศอังกฤษ แล้วไปศึกษาวิชาทหารบกในประเทศเยอรมนี

เมื่อปีเถาะ ตรีศก จุลศักราช ๑๒๕๓ พ.ศ. ๒๔๓๔ รัชกาลที่ ๕ ทรงสถาปนาเป็นสมเด็จเจ้าฟ้า กรมขุนมไหสูริยสงขลา  พร้อมกับสมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมขุนพิษณุโลกประชานาถ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า เปนราชประเพณีโบราณมา สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้า เมื่อทรงพระเจริญขึ้นสมควรกาลแล้ว ก็พระราชทานพระสุพรรณบัฏเฉลิมพระนามตามสมควรที่ตั้งอยู่ในพระบรมตระกูลอันสูงศักดิ์ บางพระองค์ก็โปรด ฯ ดำรงพระเกียรติยศเปนเจ้าฟ้าต่างกรม ทรงศักดินาเต็มตามพระราชกำหนด ด้วยอีกชั้นหนึ่ง เป็นธรรมเนียมสืบมา

บัดนี้ทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าชายทั้งสองพระองค์ทรงพระเจริญวัยสมควร ที่จะได้รับพระสุพรรณบัฏเฉลิมพระนามตามขัตติยราชประเพณี จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระราชพิธีพระบวนแห่ โดยขนาด อย่างสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าลูกหลวงเอกตามอย่างแต่ก่อนแล้ว จึงมีพระบรมราชโองการ มานบัณฑูรสุรสิงหนาท ให้สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าชายทั้งสองพระองค์ ขึ้นเปนสมเด็จ- พระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าต่างกรมพระองค์หนึ่งมีพระนามจารึกไว้ในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเจ้า- ลูกยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัฒรสุขุมพันธ์ ดิลกจันทรนิภาพงศ์ มหามกุฎวงศ์นราธิราช จุฬาลงกรณ์นาถราชวโรรส- อดุลยยศอุภโตพงศ์พิสุทธิ์ นรุตมรัตนขัตติยราชกุมาร กรมขุนมไหสูริยสงขลา มุสิกนามพระองค์หนึ่งมี พระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงศ์ภูวนาถ นริศราชมหามกุฎวงศ์ จุฬาลงกรณ์นรินทร์ สยามพิชิตนทรวรางกูรสมบูรณพิสุทธิชาติ วิมโลภาสอุภัยปักษ์ อรรควรรัตน์ ขัตติยราชกุมาร กรมขุนพิษณุโลกประชานาถ สีหนาม ทรงศักดินา ๔๐,๐๐๐ ตามพระราชกำหนดอย่าง สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าต่างกรมทั้งสองพระองค์ ให้ทรงเจริญทฤฆชนมายุ พรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ คุณสารสมบัติ สรรพสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล วิบุลยศุภผล สกลเกียรติยศอิสริยศักดิ์เดชานุภาพ มโหฬาร รับราชการฉลองพระเดชพระคุณโดยสมควรแก่ความ  เปนในพระบรมราชตระกูลอังสูงศักดิ์ ในพระบรมราชวงค์นี้ทุกประการ

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์

เจ้ากรม เปนขุนมไหสูริยสงขลา ถือศักดินา ๘๐๐
ให้ทรงตั้ง ปลัดกรม เปนหมื่นจำปาศักดิ์เกษตร ถือศักดินา  ๖๐๐
สมุหบาญชี เปนหมื่นปลัดเทศพลานุรักษ์ ถือศักดินา ๓๐๐

เสด็จไปทรงศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ แล้วไปศึกษาวิชาทหารบก ณ ประเทศเยอรมนี ได้เสด็จกลับ และได้เฝ้าสมเด็จพระบรมชนกนาถที่เมืองนครสวรรค์ ได้รับพระราชทานเปลี่ยนพระนามกรม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๔

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ ได้ทรงรับพระสุพรรณบัฏเฉลิมพระนามกรม เปน กรมขุนมไหสูริยสงขลานั้น ยังหาสมควรแก่พระเกียรติยศไม่ในการเสด็จกลับเข้ามาจากการที่ไปทรง เล่าเรียนที่ประเทศยุโรปครั้งนี้ ได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทประสบสมัยเมื่อเสด็จพระราชดำเนินประทับ อยู่ ณ เมืองนครสวรรค์อันเปนเมืองใหญ่ในมณฑลนั้น จึงทรงพระราชดำริว่า ในมณฑลนี้เคยมี สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอครองเมืองมาแต่ก่อน สมควรที่จะเปลี่ยนพระนามกรมให้เปนเกียรติยศยิ่งขึ้น

จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้เปลี่ยนพระนามกรมสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตร- สุขุมพันธุ์ ตามที่จารึกไว้ในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ ดิลกจันทร- นิภาพงศ์ มหามกุฏวงศ์นราธิราช จุฬาลงกรณนาถราชวโรรส อดุลยยศอุภโตพงศ์พิสุทธิ์ นรุตมรัตนขัตติย- ราชกุมาร กรมขุนนครสวรรค์วรพินิต มุสิกนาม ให้ทรงศักดินา ๔๐,๐๐๐ ตามพระราชกำหนดอย่าง สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าต่างกรมในพระบรมราชตระกูลอันสูงศักดิ์

เจ้ากรม เปนขุนนครสวรรค์วรพินิต ถือศักดินา ๘๐๐
ให้ทรงเลื่อน ปลัดกรม เปนหมื่นจำปาศักดิ์สิทธิเกษตร ถือศักดินา  ๖๐๐
สมุหบาญชี เปนหมื่นปลิดเทศพลานุรักษ์ ถือศักดินา ๓๐๐

ทรงเป็นนายพลตรี ราชองครักษ์ ตำแหน่งเสนาธิการทหารบก แล้วเลื่อนเป็นนายพลเรือโท ราชองครักษ์ผู้บัญชาการกรมทหารเรือ

ในรัชกาลที่ ๖ ทรงได้เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ ใน พ.ศ. ๒๔๕๔  โปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อนกรม เป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวง

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ ฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมขุนนครสวรรค์วรพินิต เปนสมเด็จพระเจ้า น้องยาเธอพระองค์ ๑ ซึ่งได้เสด็จไปศึกษาวิชาการอยู่ในประเทศยุโรปร่วมสมัยได้ประทับอยู่ร่วมสำนัก กันนาน จึงนับว่าเปนผู้ซึ่งทรงคุ้นเคยสนิทสนมอย่างยิ่งทั้งทรงทราบพระราชอัธยาศัยของพระบาท- สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างดี ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ เสด็จกลับเข้ามาสู่พระนคร แล้วก็ได้ทรงรับราชการแผ่นดินในหน้าที่ต่างๆ เปนที่ไว้วางพระราชหฤทัยแห่งพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงรับตำแหน่งหน้าที่เสนาธิการทหารบก ได้ทรงพระดำริวางระเบียบ ราชการทหารบกให้เปนไปตามแบบอย่างอันนิยมกันว่าดี และสมควรแก่กาลสมัย ในเมื่อทรงรับตำแหน่ง เสนาธิการทหารบกอยู่นั้น ราชการแผนกทหารบกก็ได้ดำเนินไปโดยเรียบร้อยและเจริญขึ้นเปนลำดับ ต่อมาได้ย้ายไปรับราชการในตำแหน่งผู้บัญชาการกรมทหารเรือ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ ก็ได้ทรง พระอุตสาหะ เอาพระหฤทัยสอดส่องในราชกิจในแผนกทหารเรือเพื่อให้การทั้งปวงดำเนินไปสู่ความ เจริญตามสมควรแก่กาลสมัย และสมควรแก่ที่กำลังรัฐบาลจะบันดาลให้สำเร็จไปได้ ได้ทรงจัดระเบียบ การต่างๆ เพื่อประโยชน์แห่งทหารเรือหลายประการ ครั้นมาในรัชกาลปัจจุบันนี้ เมื่อทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้ยกกรมทหารเรือขึ้นเปนกระทรวง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้า- น้องยาเธอ ฯ ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีว่าการทหารเรือเปนปฐม  และเมื่อโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งสภา ทัพขึ้น ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปนกรรมการในสภานั้นด้วย ราชการต่างๆ ในแผนก ทหารเรือได้ดำเนินมาโดยสะดวกดี และที่ตั้งรูปขึ้นไว้แล้วและมองเห็นทางว่าจะสำเร็จไปได้โดย เรียบร้อย ก็มีอยู่เปนอเนกประการก็เพราะอาศัยพระปรีชาสามารถ และพระอุตสาหะวิริยภาพ แห่งสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ ฯ เปนที่ตั้ง จึงควรที่จะทรงไว้วางพระราชหฤทัย สมควรที่จะเลื่อน พระอิสริยยศให้สูงขึ้นได้

จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้เลื่อนสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมขุนนครสวรรค์วรพินิต ขึ้นเปนสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงมีพระนามตามจารึกใน พระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ ดิลกจันทรนิภาพงศ์ มหามกุฎวงศ์นราธิราช จุฬาลงกรณนาถราชวโรรส อดุลยยศอุภโตพงศ์พิสุทธิ์ นรุตรัตนขัตติยราชกุมาร กรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต มุสิกนาม ให้ทรงศักดินา ๕๐,๐๐๐ ตามพระราชกำหนดอย่าง สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าต่างกรมในพระบรมราชตระกูลอันสูงศักดิ์

เจ้ากรม เปนหลวงนครสวรรค์วรพินิต ถือศักดินา ๘๐๐
ให้ทรงเลื่อน ปลัดกรม เปนขุนจำปาศักดิ์สิทธิเกษตร ถือศักดินา  ๖๐๐
สมุหบาญชี เปนหมื่นปลิดเทศพลานุรักษ์ ถือศักดินา ๔๐๐

ต่อมาทรงเป็นนายพลเรือเอก แล้วเป็นจอมพลเรือ ราชองครักษ์ เป็นจอมพลตำแหน่งเสนาธิการทหารบก เป็นอุปนายกแห่งสภากาชาดสยาม เมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๔๖๓

เมื่อปีฉลู สัปตศก จุลศักราช ๑๒๘๗ พ.ศ. ๒๔๖๘ รัชกาลที่ ๗ โปรดเกล้า ฯ ให้เป็นอภิรัฐมนตรี และทรงสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าฟ้ากรมพระ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรามหาประชาธิปก ฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระเจ้าที่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต ทรงรอบรู้นานาวิชาการ ทั้งมีความสามารถ และซึ่งตรงดำรงในความสุจริต เปนเหตุให้ได้ทรงรับราชการในตำแหน่งสำคัญมาตั้งแต่ในรัชกาลแห่ง สมเด็จพระบรมชนกนาถ จนตลอดรัชกาลแห่งสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้า- อยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันนี้ยังเสด็จดำรงพระยศเปนสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ ฯ ทรงมีตำแหน่งในทหารบก เคยรับราชการร่วมกับสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต ได้ทรงทราบตระหนัก ในพระคุณสมบัติกับทั้งความอารีรักใคร่ในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เปนเหตุให้ทรงรับราชการ ด้วยกันมาอย่างสนิมสนมกลมเกลียว ส่วนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงรักใคร่นับถือเหมือนเช่นเปน สมเด็จพระเชษฐาอันร่วมพระราชชนนีเดียวกันมาแต่ครั้งนั้นครั้นมาถึงเวลาเมื่อจะเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ได้ทรงอาศัยปรึกษาหารือราชการ สำคัญต่างๆ สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้า ฯ กรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต ก็ได้ทรงช่วยพระราชภาระโดยเต็มพระหฤทัยทุกอย่าง ตลอดจนทรงรับตำแหน่งเปนอภิรัฐมนตรีอยู่บัดนี้ เห็นชัดว่าเพราะความที่ ทรงจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และมีความซื่อตรงต่อราชการบ้าน เมือง สมควรเปนที่ไว้วางพระราชหฤทัย และเปนที่ทรงเคารพนับถือโดยมีพระคุณอย่างยิ่งพรรณนามา

จึงมีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ดำรัสสั่งให้เลื่อนกรมสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้า ฯ กรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต ขึ้นเป็นกรมพระมีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ ดิลกจันทรนิภาพงศ์มหามกุฎวงศ์นราธิราช จุฬาลงกรณนาถราชวโรรส อดุลยยศอุภโตพงศ์พิสุทธิ์ นรุตรัตนขัตติยราชกุมาร กรมพระนครสวรรค์วร พินิต สชีวะเชษฐสาธิษฐสุขุมาลกษัตริย์ อภิรัฎฐมหาเสนานหุษเนาอุฑฑิน จุพินทรมหาราชวรางกูร สรรพพันธุธูรราชประยูรประดิษฐาประชาธิปกปัฐพินทร์ปรมินทรมหาราชวโรปการ ปรีชาไวยัตโยฬาร สุรพลประภาพ ปราบต์ไตรรัชยยุค ยุกติธรรมอรรถศาสตร์ อุดมอาร์ชวีวีรยาธยาศัย เมตตามันตภาณี ศีตลาหฤทัยพุทธาทิไตรรัตนศรณธาดา มหันตเดชานุภาพบพิตร มุสิกนาม ทรงศักดินา ๕๐,๐๐๐ ตามพระราชกำหนดอย่างสมเด็จเจ้าฟ้าต่างกรมในพระบรมราชตระกูลอันสูงศักดิ์

เจ้ากรม เปนพระนครสวรรค์วรพินิต ถือศักดินา ๘๐๐
ให้ทรงเลื่อน ปลัดกรม เปนหลวงจำปาศักดิ์สิทธิเกษตร ถือศักดินา  ๖๐๐
สมุหบาญชี เปนขุนปลิดเทศพลานุรักษ์ ถือศักดินา ๔๐๐

ทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหม และใน พ.ศ. ๒๔๗๑ ทรงย้ายมาเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ใน พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้เกิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระองค์จึงแปรนิวาสสถานได้เสด็จไปประทับที่ชวา

สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๘ เมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๗ พระชันษา ๖๓ ปี

ทรงเป็นต้นราชสกุล บริพัตร

ที่ ๒  ในสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี

“ชายอาภากร” (พระองค์เจ้าชายอาภากรเกียรติวงศ์)

ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ เดือนอ้าย แรม ๓ ค่ำ ปีมะโรง โทศก จุลศักราช ๑๒๔๒ ตรงกับวันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๒๓ ลำดับที่ ๓๑ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ได้เสด็จไปทรงศึกษาวิชาการทหารเรือ ณ ประเทศอังกฤษ

เมื่อปีมะโรง ฉศก จุลศักราช ๑๒๖๖ พ.ศ. ๒๔๔๗ รัชกาลที่ ๕ ทรงสถาปนาเปนกรมหมื่นชุมพร เขตรอุดมศักดิ์

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ได้เสด็จไปทรงศึกษาวิชาการในประเทศยุโรป จนได้เข้าฝึกหัดในการทหารเรือ ได้เสด็จลงประจำเรือจนเสร็จวิธีเรียนครั้งเมื่อเสด็จพระราชดำเนิน ประพาสประเทศยุโรป ได้เสด็จมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ เกาะลังกา ได้เสด็จลงประจำ เรือพระที่นั่งมหาจักรี ทรงถือท้ายเรือพระที่นั่งด้วยพระองค์เองครั้นเมื่อเสด็จกลับเข้ากรุงเทพมหานคร ก็ได้ทรงรับราชการในกรมทหารเรือสืบมาจนบัดนี้ มีวัยวุฒิปรีชาสามารถ อาจหาญในวิชาการทางที่ ทรงร่ำเรียนมา สมควรที่จะมีพระเกียรติยศเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมพระองค์หนึ่งได้

จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สถาปนา พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ขึ้นเปนพระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่าพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ สิงหนาท ทรงศักดินา ๑๕,๐๐๐ ตามพระราชกำหนด อย่างพระองค์เจ้าต่างกรมในพระบรมมหาราชวัง

เจ้ากรม เปนหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ถือศักดินา ๖๐๐
ให้ทรงตั้ง ปลัดกรม เปนหมื่นระนองนัครานุกิจ ถือศักดินา  ๔๐๐
สมุหบาญชี เปนหมื่นกาญจนดิฐผดุงพล ถือศักดินา ๓๐๐

ได้เปนนายพลเรือตรี ราชองครักษ์  ตำแหน่งรองผู้บัญชาการกรมทหารเรือ

เมื่อปีวอก โทศก จุลศักราช ๑๒๘๒  พ.ศ. ๒๔๖๓ ปีวอก รัชกาลที่ ๖ ได้เลื่อนเป็นนายพลเรือโท แล้วเป็นนายพลเรือเอกราชองครักษ์ ตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือและเลื่อนกรมเป็นกรมหลวง

พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ ฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ได้โดยเสด็จไปทรงศึกษาวิชาการ ณ ประเทศยุโรป คราวเดียวกัน ได้ประทับอยู่เล่าเรียนชั้นปฐมศึกษาในสำนักอันเดียวกันเปนผู้คุ้นเคยสนิทร่วมทุกข์ ร่วมสุขด้วย ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทมาช้านานยิ่งกว่าพระเจ้าพี่ยาเธอ พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์อื่น เมื่อทรงแยกไปศึกษาวิชาการทหารเรือสำเร็จได้กลับเข้ามารับราชการในกระทรวงทหารเรือ ก็ได้ทรง พระอุตสาหะจัดราชการด้วยพระปรีชาสามารถอาจหาญในวิชาการที่ทรงร่ำเรียนมา ได้รับพระราชทาน ยศในตำแหน่งราชการเปนลำดับมาจนได้เปนนายพลเรือตรี เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๔๗ มีความดีความ ชอบปรากฏในประกาศตั้งกรมครั้งก่อนนั้นแล้ว ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ ได้รับราชการในตำแหน่งเจ้า- กรมยุทธศึกษาทหารเรือเพิ่มขึ้นอีก ได้ทรงวางระเบียบแบบแผนต่างๆ ให้ข้าราชการทหารเรือดำเนิน เจริญยิ่งขึ้นโดยลำดับ ข้อสำคัญที่ควรยกขึ้นกล่าว คือได้ทรงพระดำริจัดการโรงเรียนนายทหารเรือ และนายช่างกลให้เจริญยิ่งขึ้น ทรงเพาะวิชาฝ่ายทหารเรือ และวิชาช่างกลให้นายทหารเรือไทยมี ความรู้ความชำนาญสามารถเปนผู้บังคับบัญชาการ และเปนครูได้เปนผลสำเร็จ ไม่ต้องใช้ชาวต่าง ประเทศเปนผู้บังคับบัญชา และเปนครูเหมือนแต่กาลก่อนทั้งได้ทรงทำแผนการทัพเรือยิ่งเปนอัน มาก เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ได้ทรงเลื่อนยศเป็นนายพลเรือโทและในที่นี้เองได้ทรงเลื่อนขึ้นเปนนาย พลเรือเอก และเปนผู้แทนคณะกรรมการราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ออกไปจัดซื้อเรือรบหลวง “พระร่วง” ณ ประเทศอังกฤษ และทรงอุตสาหะนำเรือรบหลวง “พระร่วง” เข้ามาสู่กรุงเทพพระมหานครด้วยพระองค์เอง ได้มาถึงโดยสวัสดิภาพ เปนความชอบพิเศษของ พระองค์อีกส่วนหนึ่งในบัดนี้ก็ทรงดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารเรืออันเปนตำแหน่งสำคัญ ทรงตั้ง พระทัยรับราชการสนองพระเดชพระคุณด้วยพระปรีชาสามารถ กอปรด้วยพระอุตสาหะวิริยภาพมิ ได้ย่อหย่อน ทรงมีความซื่อสัตย์สุจริตและจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท สมควรเปนที่ทรง ไว้วางพระราชหฤทัย และสมควรที่จะสถาปนาไว้ในตำแหน่งพระองค์เจ้าต่างกรมผู้ใหญ่ พระองค์ ๑ ได้

จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้เลื่อน พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ขึ้นเปนกรมหลวง มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพร เขตรอุดมศักดิ์ สิงหนาม ทรงศักดินา ๑๕,๐๐๐ ตามพระราชกำหนดอย่าง พระองค์เจ้าต่างกรมในพระบรมมหาราชวัง

เจ้ากรม เปนหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ถือศักดินา ๘๐๐
ให้ทรงเลื่อน ปลัดกรม เปนขุนระนองนัครานุกิจ ถือศักดินา  ๖๐๐
สมุหบาญชี เปนหมื่นกาญจนดิฐผดุงพล ถือศักดินา ๔๐๐

เมื่อปีจอ จัตวาศก จุลศักราช ๑๒๘๔ ตรงกับวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๖๖ โปรดเกล้าฯ ให้เป็น เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ

สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๖ เมื่อวันเสาร์ เดือน ๗ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีกุน เบญจศก จุลศักราช ๑๒๘๕ วันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๖

พระชันษา  ๔๔ ปี

ทรงเป็นต้นสุกล อาภากร

ที่ ๑ ในเจ้าจอมมารดาโหมด (ท่านเป็นธิดาเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) และท่านผู้หญิงอิ่ม)

หน้า จาก ๒๗ หน้า