พระที่นั่งองค์นี้เป็นพระราชบัลลังก์บุษบก ประดิษฐานเหนือฐานปูนปั้นทองแกมแก้ว องค์บุษบกเดิม สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๑ ฐานปูนปั้นสร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๓
องค์บุษบกที่สร้างในรัชกาลที่ ๑ เป็นบุษบกแบบมีเกรินประกอบหัวท้าย ทำด้วยไม้จำหลักลายปิดทอง ประดับกระจกเป็นบางแห่ง แต่ละชั้นขององค์บุษบกจำหลักลายดังนี้:-
หน้ากระดานเชิงฐาน เรียบไม่มีลายจำหลัก
ฐานชั้นสิงห์ จำหลักลายเฉพาะกาบเท้า ปาก และจมูกสิงห์ บนฐานหลังสิงห์ประดับกระจังเจิม
ท้องไม้ จำหลักลายบัวกลีบขนุน
หน้ากระดานฐานปัทม จำหลักลายลูกฟักก้ามปูใบเทศ รองรับด้วยบัวหงาย
ท้องไม้ชั้นที่ ๒ จำหลักลายบัวกลีบขนุน หน้าท้องไม้จำหลักรูปเทพนมติดลอยโดยรอบ
หน้ากระดานฐานพระ จำหลักลายลูกฟักก้ามปูในเทศ รองรับด้วยบัวหงายติดกระจังปฏิญาณ
เสาบุษบกเป็นเสาย่อมุมไม้สิบสอง โคนเสาประกอบกาบพรหมสรทุกเสา ส่วนบนของบุษบกประกอบด้วย เครื่องตกแต่งเครื่องยอด ดังนี้ คันทวยเสาละ ๓ คัน มีนาคปักและบานแถลงทุกชั้นลด เหนือบัวคอระฆังมีเหม ๓ ชั้น บัวกลุ่ม ๕ ชั้น ยอดเป็นยอดพุ่มข้าวบิณฑ์
สองข้างองค์บุษบกประกอบเกรินหัวท้าย ลายจำหลักที่เกรินเหมือนกับองค์บุษบกแต่กระจังเหนือด้านหน้า กระดานฐานพระเป็นกระจังลายกระหนกท้ายเกริน เหนือเกรินทั้งสองข้างปักฉัตรทองลายฉลุข้างละ ๑ ฉัตร
ส่วนฐานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหนุนพระที่นั่งบุษบก มาลาให้สูงขึ้นนั้น เป็นฐานปูนประกอบลายปูนปั้นปิดทองประดับกระจก ตอนล่างสุดของฐานเป็นหน้ากระดาน เชิงฐานรองรับฐานชั้นสิงห์ มีบัวหลังสิงห์ประกอบพร้อมสรรพ เหนือบัวประดับด้วยกระจังเจิม ๒ ชั้น ท้องไม้ใต้ และเหนือลูกแก้วเป็นท้องไม้เรียบทาสีแดง ลูกแก้วเป็นลายรักร้อยดอกไม้ หน้ากระดานฐานปัทมเป็นลายลูกฟัก ก้ามปูใบเทศ รองรับด้วยบัวหงายและประดับด้วยกระจังเจิม ๒ ชั้น หน้าท้องไม้ระหว่างกระดานฐานพระและหน้า กระดานฐานปัทม เป็นลายบัวกลีบขนุน มีรูปครุฑจับนาคติดเรียงรายตลอดแนว หน้ากระดานฐานพระเป็นลาย ลูกฟักก้ามปูใบเทศ รองรับด้วยบัวหงายและประดับด้วยกระจังเจิม ๒ ชั้น ตอนบนของฐานปูนมีพนักไม้ปิดทอง ประดับกระจกเป็นลายกุดั่น ฐานปูนนี้รองรับองค์พระที่นั่งบุษบกมาลาเดิมที่ทำขึ้นในรัชกาลที่ ๑ ไว้อีกชั้นหนึ่ง
การก่อฐานเสริมพระที่นั่งบุษบกมาลาขึ้นให้สูงนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานไว้ว่า “แต่เดิมในพระที่นั่งอมรินทรตั้งแต่พระที่นั่งบุษบกมาลาองค์เดียว และคงมีฐานเตี้ยเช่น พระที่นั่งบุษบกมาลาในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยวังหน้าครั้นเมื่อเอาพระแท่นเศวตฉัตรมาตั้งไว้ในพระที่นั่งอมินทรอีก พระแท่นนั้นมาบังพระที่นั่งบุษบกมาลา จึงโปรดให้ทำฐานหนุนให้สูงขึ้นอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้” (“สาส์นสมเด็จ” ฉบับคุรุสภาจัดพิมพ์ เล่ม ๑๖ หน้า ๗๒ – ๗๓) และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุ- วัตติวงศ์ ทรงสันนิษฐานว่า “พระที่นั่งบุษบกมาลาแต่ก่อนอยู่เตี้ย ฯลฯ ต้องลงอัฒจันทร์พระที่นั่งไพศาลมาก่อน แล้วจึงขึ้นบุษบก เป็นการพิโยคพิเกนไม่น้อย ที่ทำฐานต่อให้สูงขึ้น จะเป็นคิดจากความสะดวกที่ไม่ต้องขึ้นอัฒจันทร์ ไม่ใช่หลบหนีพระแท่นเศวตฉัตรก็ได้”
พระที่นั่งบุษบกมาลามหาพิมานนี้ แต่เดิมเป็นที่ประทับของสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า เมื่อเวลา เสด็จออกมหาสมาคมในโอกาสต่างๆ รวมทั้งในการเสด็จออกรับทูตต่างประเทศที่เข้ามาเจริญทางพระราชไมตรี ด้วย มีหลักฐานปรากฏว่า เมื่อคราวที่ผู้สำเร็จราชการอินเดียของอังกฤษ ส่งจอห์นครอว์ฟอร์ด เป็นทูตเข้ามา เจริญทางพระราชไมตรีนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงฉลองพระองค์ครุย เสด็จออก พระที่นั่งบุษบกมาลามหาพิมาน เพื่อให้จอห์นครอว์ฟอร์ดและพวงอังกฤษที่มาในกองทูตเข้าเฝ้าฯ
ในรัชกาลต่อๆ มาไม่ปรากฏว่าได้เสด็จออกพระที่นั่งบุษบกมาลาฯ อีก เวลาเสด็จออกมหาสมาคม ก็เสด็จ ขึ้นประทับบนพระราชบัลลังก์ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตรแทน ฉะนั้น ที่พระที่นั่งบุษบกมาลาจึงจัดเป็นที่ ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญในการพระราชพิธีและการพระราชกุศลต่างๆ แต่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระแท่นเศวตฉัตรไปตั้งไว้ ณ ท้องพระโรงหน้า พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน และเสด็จออก ณ พระที่นั่งบุษบกมาลามหาพิมานในวันเสด็จออกมหาสมาคม เนื่องในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาทุกปีมา