สารบัญ
“เสด็จอานเรศ” -“วุฒิไชยเฉลิมลาภ”
“เสด็จอานเรศ” (พระองค์เจ้าชายกฤษดาภินิหาร)

ประสูติเมื่อวันจันทร์ เดือน ๖ แรม ๗ ค่ำ ปีเถาะ สัปตศก จุลศักราช ๑๒๑๗ ตรงกับวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๙๘  ลำดับที่ ๑๗ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในปีกุน พ.ศ. ๒๔๑๘ รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระยศสถาปนาขึ้นเป็นกรมหมื่น

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร เปนพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์ใหญ่ ได้มีความจงรักภักดีเปนที่ ทรงคุ้นเคยแต่เดิมมา และได้ทรงพระอุตสาหะรับราชการฉลองพระเดชพระคุณมิได้ทรงเกียจคร้าน มีพระชนมายุ กาลเจริญวัยวุฒิ กอปรด้วยวิริยปรีชารอบรู้ในราชกิจจานุกิจทั้งปวง สมควรแก่ตำแหน่งยศที่พระองค์เจ้าต่างกรมรับ ราชการต่างพระเนตรพระกรรณได้ จึงมีพระบรมราชโองการมาในพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ดำรัสสั่งให้สถาปนาเลื่อน ตำแหน่งยศพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร เปนพระองค์เจ้าต่างกรม มีราชสมญาภิไธยนามตาม จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าน้องยาเธอ   กรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิ์ นาคนาม ทรงศักดินา ๑๕,๐๐๐

เจ้ากรม เปนหมื่นนเรศรวรฤทธิ์ ถือศักดินา ๖๐๐
ให้ทรงตั้ง ปลัดกรม เปนหมื่นราชกิจวรเดช ถือศักดินา  ๔๐๐
สมุหบาญชี เปนหมื่นสังเกตนิกร ถือศักดินา ๓๐๐

ในปีกุน พ.ศ. ๒๔๔๒ รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนกรมขึ้นเป็นกรมหลวง

พระบาทสมเด็จพระปรมินทร์มหาจุฬาลงกรณ์ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิ์ได้ทรงเริ่มรับราชการในออดิตออฟฟิศมาแต่ยังมีพระชนมายุ น้อยครั้งเมื่อตั้งออฟฟิศ กรมราชเลขานุการก็ได้ทรงรับตำแหน่งในหน้าที่ร่วมกันกับพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ เปนที่ไว้วางพระราชหฤทัยและได้ทรงจัดการสร้างพระที่นั่งและรักษาพระราชวัง บางปะอินทั้งการอื่นๆ ซึ่งเปนราชการในพระองค์เปนอันมาก ภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จ ออกไปเปนราชทูตประจำกรุงอังกฤษ และยุไนติดสเตตอเมริกา เมื่อเสด็จกลับกรุงเทพฯ ก็ได้ทรงรับหน้าที่ เปนคอมมิตตี บังคับการกรมพระนครบาล ภายหลังได้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงนครบาล และได้เปน กรรมการตรวจตัดสินความฎีกาถึงสองคราว ได้รับราชการในตำแหน่งใหญ่ยั่งยืนมาช้านานประกอบไปด้วย พระปรีชาสามารถรอบรู้ในราชกิจเก่าใหม่รอบคอบทั่วถึงได้ทรงผ่อนผันรักษาการงานในเวลาที่มีราชการขับขัน โดยพระปัญญาและอุตสาหะวิริยภาพให้ราชการทั้งปวงสงบเรียบร้อยเปนไปไม่มีเหตุการณ์อันใด นับว่าเปน ความชอบความดีในราชการมาโดยลำดับ  เปนพระเจ้าน้องยาเธอ ซึ่งมีพระชนมายุมากกว่าพระเจ้าน้องยาเธอ ทั้งปวง สมควรที่จะได้ดำรงพระเกียรติยศเปนพระองค์เจ้าต่างกรมผู้ใหญ่

จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สถาปนาเลื่อนพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิ์ ขึ้นเปน พระองค์เจ้าต่างกรมผู้ใหญ่มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่าพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงนเรศร์วรฤทธิ์ นาคนาม ทรงศักดิ์นา ๑๕,๐๐๐ ตามพระราชกำหนดอย่างพระองค์เจ้าต่างกรมในพระบรมมหาราชวัง

เจ้ากรม เปนหลวงนเรศวรฤทธิ์ ถือศักดินา ๖๐๐
ให้ทรงตั้ง ปลัดกรม เปนขุนราชกิจวรเดช ถือศักดินา  ๔๐๐
สมุหบาญชี เปนหมื่นสังเกตนิกร ถือศักดินา ๓๐๐

ในปีกุน พ.ศ. ๒๔๕๔ รัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเลื่อนกรมเป็นกรมพระ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนเรศร์วรฤทธิ์ เปนพระจ้าบรมวงศ์ผู้มีพระชนมายุยิ่งกว่าพระบรมวงศ์ฝ่ายหน้า ทั้งปวง และเปนผู้ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระเมตตามาก ได้รับราชการสนองพระเดช พระคุณในหน้าที่ต่างๆ หลายอย่างอันเปนที่ไว้วางพระราชหฤทัย ดังมีข้อความปรากฏอยู่ในประกาศตั้งและเลื่อน พระอิสริยยศทั้ง ๒ ครั้งนั้นแล้ว การที่ได้ทรงพระดำริจัดวางระเบียบการต่างๆ ในกระทรวงนครบาลตั้งแต่ยังทรง ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงนครบาลอยู่นั้น ก็ยังแลเห็นหนทางที่ได้ใช้ในราชการกระทรวงนั้น ตลอดมาจน กาลบัดนี้ ครั้งเมื่อได้ทรงย้ายมารับราชการในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ ก็นับได้ว่าได้ทรงทำการงาน อันพึงพระราชหฤทัยแผนก ๑ เพราะทรงมีพระอัธยาศัยในการช่างอยู่เปนธรรมดาเแล้ว ราชการแผนกโยธาจึง ดำเนินไปในทางอันดี ได้มีสิ่งงดงามบังเกิดขึ้นเปนที่เชิดชูพระนครหลายสิ่ง ทั้งในส่วนการรถไฟและไปรษณีย์ โทรเลข อันเปนสิ่งสำคัญเพื่อบำรุงความเจริญแห่งบ้านเมือง ก็ได้ทรงพระอุตสาหะดำริและจัดให้การดำเนินไปโดย เรียบร้อยสมควรแก่กาลสมัย แต่นอกจากราชการซึ่งได้ทรงปฏิบัติอยู่ตามหน้าที่นั้นๆ โดยเฉพาะ ยังได้ทรงเอื้อเฟื้อ ในการแผนกพระราชพิธีต่างๆ อีกส่วน ๑ โดยเหตุที่ทรงเปนผู้มีความชำนาญในราชการประเพณี และสรรพวิธีการ ทั้งปวง ได้ทรงจัดสนองพระเดชพระคุณในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนับจำเดิม เริ่มแต่งานพระบรม ราชาพิเษกผ่านภิภพตลอดมา เปนที่เรียบร้อยและเชิดชูพระเกียรติยศ มีพระอัธยาศัย เต็มไปด้วยเมตตา สีตลาหฤทัย กอปรไปด้วยวิริยะอุตสาหะสมควรที่จะทรงยกย่องขึ้นเปนพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ เปนที่เคารพได้พระองค์ ๑

จึงมีพระบรมราชโองการ ดำรัสสั่งให้เลื่อนพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนเศร์วรฤทธิ์ ขึ้นเปน กรมพระ มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์ มหิศวรรราชรวิวงศ์ สิทธิประสงค์กฤษดาธิการ สุทธสันดานสีตลาหฤทัย มไหศวริยราชนิติธาดา สุปรีชาสรรพกิจโกศล วิมลสุจริต- จริยาวัตร พุทธาทิรัตนสรณารักษ์ อุดมศักดิ์บพิตรนาคนาม ให้ทรงศักดิ์นา   ๑๕,๐๐๐ ตามพระราชกำหนดอย่างพระองค์เจ้าต่างกรมในพระบรมมหาราชวัง

เจ้ากรม เปนพระนเรศวรฤทธิ์ ถือศักดินา ๘๐๐
ให้ทรงตั้ง ปลัดกรม เปนหลวงราชกิจวรเดช ถือศักดินา  ๖๐๐
สมุหบาญชี เปนขุนสังเกตนิกร ถือศักดินา ๔๐๐

ต่อมาได้ทรงราชการเป็นสมุหมนตรี และเสนาบดีกระทรวงมุรธาธร

สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๖ เมื่อวันจันทร์ เดือน ๙ แรม ๖ ค่ำ ปีฉลู สัปตศก จุลศักราช  ๑๒๘๗ ตรงกับ วันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๘

พระชันษา  ๗๑ ปี

ทรงเป็นต้นราชสกุล กฤดากร

“วังหน้า” (พระองค์เจ้าชายยอดยิ่งยศ (ยอชวอชิงตัน))

ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๑๐ แรม ๒ ค่ำ ปีจอ สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๐๐ ตรงกับวันที่ ๖ กันยายน พ.ศ. ๒๓๘๑  ลำดับที่ ๓ ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

เมื่อรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติได้พระราชทาน พระนามใหม่ว่า “พระองค์เจ้าชายยอดยิ่งประยุรยศ บวรราโชรสรัตนราชกุมาร”

ในรัชกาลที่ ๔ ทรงสถาปนาเป็นกรมหมื่นบวรวิไชยชาญ เมื่อวันศุกร์ เดือน ๔ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ปีระกา ตรีศก จุลศักราช ๑๒๒๓ ตรงกับวันที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๐๔

ในรัชกาลที่ ๕ ได้รับอุปราชาภิเษกเป็น กรมพระราชวังบวรสถานมงคล

ทิวงคตในรัชกาลที่ ๕ เมื่อวันศุกร์ เดือน ๙ แรม ๓ ค่ำ ปีระกา สัปตศก จุลศักราช ๑๒๔๗ ตรงกับวันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๒๘

พระชันษา ๔๘ ปี

ที่ ๒ ในเจ้าคุณจอมมารดาเอม

“ทูลหม่อมทวด” (สมเด็จเจ้าฟ้าชายฉิม)

พระราชสมภพเมื่อวันพุธ เดือน ๔ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีกุล นพศก จุลศักราช ๑๑๒๙ ตรงกับวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๑๐ ที่อัมพวา เมืองสมุทรสงคราม ด้วยพระชนกยังดำรงพระยศเป็นที่หลวงยกกระบัตร เมืองราชบุรี ลำดับที่ ๔ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

เมื่อพระชนกปราบดาภิเษกเถลิงถวัลย์ราชขึ้นเป็นองค์ปฐมบรมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และได้รับ เฉลิมพระนามว่าภิไธยต่อมาว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๕ ได้โปรดเกล้าฯ เฉลิมพระยศขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร

ใน พ.ศ. ๒๓๓๑ ได้ทรงผนวชที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่จำพรรษา ณ วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) อยู่ตลอดพรรษาจึงลาผนวช

ในปี พ.ศ. ๒๓๔๙ เมื่อกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (วังหน้า) สวรรคตแล้วสมเด็จพระราชบิดา ก็โปรดเกล้าฯ สถาปนาให้ทรงพระยศดำรงตำแหน่งเป็น กรมพระราชวังบวรสถานมงคลแทน

ใน พ.ศ. ๒๓๕๒ ได้ขึ้นครองราชย์สืบสันตติวงศ์ต่อจากสมเด็จพระราชบิดาเฉลิมพระนามตามจารึก ในพระสุพรรณบัฏว่าพระบรมราชนามาภิไธยว่า “พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรบรม มหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราช รัตนากาศภาษกรวงศ์ องค์ปรมาธิเบศร ตรีภูวเนตรวรนายก ดิลกรัตนราช ชาติอาชาวศรัย สมุทัยดโรมนต์ สกลจักรวาฬธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทราธาดาธิบดี ศริสุวิบุลย์ดุณอกนิฐฤทธิราเมศวรมหันต์ บรมธรรมิกราชาธิราชเดโชชัย พรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร์ ภูมินทรปรมาธิเบศร โลกเชฐวิสุทธิ รัตนมกุฎประเทศคตา มหาพุทธางกูรบรมบพิตร”

ทรงอยู่ในราชสมบัติ ๑๖ ปี

สวรรคตเมื่อวันพุธ เดือน ๘ แรม ๑๑ ค่ำ ปีวอก ฉศก จุลศักราช ๑๑๘๖ ตรงกับวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๖๗ พระชนมพรรษา ๕๘ พรรษา

ในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสร้างพระพุทธรูปฉลองพระองค์ทรงเครื่อง พระมหาจักรพรรดิพระราชทานนามว่า พระพุทธเลิศหล้านภาลัยถวายเป็นราชอุทิศแด่สมเด็จพระราชบิดา พระนามนี้จึงปรากฏมาเป็นทางราชการอันหมายถึง รัชกาลที่ ๒ แห่งจักรีบรมวงศ์มาจนทุกวันนี้

“ทูลหม่อมอาองค์น้อย” (สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์)

ประสูติเมื่อวันพุธ เดือนยี่ แรม ๔ ค่ำ ปีมะแม เอกศก จุลศักราช ๑๒๒๑ ตรงกับวันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๐๒ ลำดับที่ ๔๕ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๑๓ รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเฉลิมพระยศขึ้นเป็นกรมหมื่น

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ ทรงเจริญพระชนมายุพรรษาใกล้เวลาพระราชพิธีโสกันต์ เปนอภิลักขิตสมัย สมควรจะได้รับพระสุพรรณบัฏ เฉลิมพระเกียรติคุณวิบุลยวรยศฐานันดรศักดิ์ ที่สมเด็จ พระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้า เพื่อจะรักษาโบราณราชประเพณีไม่ให้เสื่อมสูญ และปนการฉลองพระเดชพระคุณ ให้สมโดยพระราชดำริในสมเด็จพระบรมชนกนาถ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นด้วย จึงมี พระบรมราชโองการมาในพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งให้เฉลิมพระนามพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้า พระองค์น้อย ขึ้นเปนสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้า มีพระนามตามจารึกไว้ในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จ พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ ดำรงราชอิสริยธิบดีศรีวิสุทธ มหามงกุฎพงศ์วโรภยาภิชาต ราชโสทรานุชาธิบดินทร ทิพยศิรินทรพิพัฒน์สุขุมาลรัตนราชกุมาร โสณนาม ดังนี้ ให้ทรงศักดินา ๒๐,๐๐๐ ตามพระราชกำหนดอย่างสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้า

เจ้ากรม เปนหมื่นภาณุพันธุวงศ์วรเดช ถือศักดินา ๘๐๐
ให้ทรงตั้ง ปลัดกรม เปนหมื่นภูเบศร์บริบาล ถือศักดินา  ๖๐๐
สมุหบาญชี เปนหมื่นประมานประชุมชน ถือศักดินา ๓๐๐

ในปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๒๔ รัชกาลที่ ๕ ทรงสถาปนาเฉลิมพระยศขึ้นเป็นกรมหลวง

เจ้ากรม เปนหลวงภาณุพันธุวงศ์วรเดช ถือศักดินา ๘๐๐
ให้ทรงเลื่อน ปลัดกรม เปนขุนภูเบศร์บริบาล ถือศักดินา  ๖๐๐
สมุหบาญชี คงเปนหมื่นประมาณประชุมชน ถือศักดินา ๓๐๐

ในปีระกา พ.ศ. ๒๔๒๘ รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เฉลิมพระยศขึ้นเป็น กรมพระ

เจ้ากรม เปนพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช ถือศักดินา ๘๐๐
ให้ทรงตั้ง ปลัดกรม เปนหลวงภูเบศร์บริบาล ถือศักดินา  ๖๐๐
สมุหบาญชี เปนขุนประมาณประชุมชน ถือศักดินา ๔๐๐

ตลอดเวลาในรัชกาลที่ ๕ ได้โปรดเกล้าฯ ให้ทรงเป็นนายพลเอกราชองครักษ์ เสนาบดีกระทรวง ยุทธนาธิการ และกระทรวงกลาโหม ได้ทรงเป็นราชทูตพิเศษเสด็จประเทศญี่ปุ่นครั้งหนึ่ง เสด็จยุโรปครั้งหนึ่ง

ในปีกุน พ.ศ. ๒๔๕๔ รัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เฉลิมพระยศสถาปนาขึ้นเป็นกรมพระยา

เจ้ากรม เปนพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ถือศักดินา ๑,๐๐๐
ให้ทรงตั้ง ปลัดกรม เปนพระภูเบศร์บริบาล ถือศักดินา  ๘๐๐
สมุหบาญชี เปนหลวงประมาณประชุมชน ถือศักดินา ๕๐๐

ตลอดรัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ทรงเป็นจอมพลทหารบกจอมพลเรือ    ราชองครักษ์พิเศษ และเป็นจเรทหารบก ทหารเรือทั่วไป

ในปีฉลู พ.ศ. ๒๔๖๘ รัชกาลที่ ๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเฉลิมพระยศขึ้นเป็นสมเด็จ พระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข

จึงมีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ให้ประกาศเฉลิมพระนามสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดชา ให้ใช้คำนำพระนามว่า สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศวรเดช ทรงศักดินา ๑๐๐,๐๐๐ เปนพระอิสริยศักดิ์พิเศษ

ทิวงคตในรัชกาลที่ ๗ เมื่อวันพุธ เดือน ๗ แรม ๑๑ ค่ำ ปีมะโรง สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๙๐ ตรงกับวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๑

พระชันษา ๖๙ ปี

ทรงเป็นต้นราชสกุล ภาณุพันธุ์

ที่ ๔ ในสมเด็จพระเทพศิรินทร บรมราชินี

“เสด็จอุปัชฌาย์” (พระองค์เจ้าชายฤกษ์)

ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๑๐ ขึ้น ๖ ค่ำ ปีมะเส็ง เอกศก จุลศักราช ๑๑๗๑  ตรงกับวันที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ. ๒๓๕๒ ลำดับที่ ๒๑ ในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสรานุรักษ์ กรมพระราชวังบวรฯ ในรัชกาลที่ ๒

ทรงผนวชเป็นสามเณรมาแต่ในรัชกาลที่ ๒

ในรัชกาลที่ ๓ ได้เป็นพระราชคณะ สถิต ณ วัดบวรนิเวศ

ครั้งรัชกาลที่ ๔ ทรงสถาปนาเป็นกรมหมื่นบวรรังสีสุริยพันธ์ ปิยพรหมจรรย์ธรรมวรยุติ ปฏิบัติสุทธิคณะนายก พุทธสาสนดิลกปวรัยบรรพชิต สรรพธรรมมิกกิจโกศลสุวิมลปรีชา ปัญญามอัครมหาสมณุดมบรมบพิตร

ครั้นรัชกาลที่ ๕ ได้เลื่อนพระยศเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ บวรรังสีสุริยพันธ์ ปิยพรหมจรรย์ธรรมวรยุติ ปฏิบัติสุทธิคณะนายก พุทธสาสนดิลกปวรัยบรรพชิต สรรพธรรมมิกกิจโกศลสุวิมลปรีชา ปัญญาอัครนาคาริยรัตโนดมพุทธวรคมโหรกลากุสโลภาส ปรมินทรมหาราชหิโตปัธยาจารย์ มโหฬารเมตยาภิยาศรัย พุทธทิศรีรัตนตรัยคุณารักษ์ อุกฤษฐศักดิสกลสังฆปาโมกษ ปธานาธิบดินทร์ มหาสมณาคณินทรวโรดม บรมบพิตร เมื่อปีระกา เบญจศก จุลศักราช ๑๒๓๕ พ.ศ. ๒๔๑๖

ต่อมาได้ทรงรับมหาสมณุตมาภิเษกเป็น สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์บวรรังษีสุรยพันธุ์ ปิยพรหมจรรย์ธรรมวรยุติ ปฏิบัติสุทธิคณะนายก ธรรมนิติสาธกปวรัยบรรชิต สรรพธรรมิกกิจโกศลสุวิมลปรีชา ปัญญาอัครมหาสมณุดม บรมพงศาธิบดี จักรีบรมนาถ มหาเสนานุนักษ์อนุราชวรางกูร ปริมินทรบดินทร์ สูรย์หิโตปัธยาจารย์ มโหฬารเมตยาภิธยาศรัย ไตรปิฎกโหรกลาโกศล เบ็ญจปดลเศวรฉัตร สิริรัตโนปลักษณ มหาสมณุตมาภิเษกาภิษิต ปรมุกฤษฐสมณศักดิ์ธำรง มหาสงฆปรินายก พุทธสาสนดิลก โลกุตมมหาบัณฑิต สุนทรวิจิตรปฏิภาณ ไวยัติญาณมาหกระวี พุทธาทิศรีรัตนตรัยคุณารักษ์เอกอัครมหาอนาคาริยรัตน์ สยามาธิ โลกยปฏิพัทธ์ พุทธบริสัษยเนตร สมณคณินทราธิเบศร์สกลพุทธจักโรปการกิจ สฤษฎีศุภการ มหาปาโมกษ ประธานวโรดม บรมนาถบพิตร

เมื่อปีเถาะ ตรีศก จุลศักราช ๑๒๕๓ พ.ศ. ๒๔๓๔ ดำรงพระเกียรติยศเป็นสมเด็จพระมหาสังฆปรินายก  ทั่วทั้งพระราชอาณาเขต

สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อวันพุธ เดือน ๑๑ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีมะโรง จัตวาศก จุลศักราช ๑๒๕๔ ตรงกับวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๓๖

พระชันษา ๘๔ ปี

ในรัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาเป็น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๔๖๔

ที่ ๑ ในเจ้าจอมมารดาน้อยเล็ก

“เสด็จอาวรวรรณ” (พระองค์เจ้าชายวรวรรณากร)

ประสูติเมื่อวันพุธ เดือน ๑๒ แรม ๒ ค่ำ ปีระกา ตรีศก จุลศักราช ๑๒๒๓ ตรงกับวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๔ ลำดับที่ ๕๗ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในปีฉลู พ.ศ. ๒๔๓๒ รัชกาลที่ ๕ ทรงสถาปนาขึ้นเป็นกรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าวรวรรณากร ทรงพระปรีชาฉลาดได้ร่ำเรียนวิชาหนังสือและเลขทรงทราบชัดเจน แม่นยำ มีพระอัธยาศัยที่จะประกอบการอันใดโดยละเอียดถ้วนถี่รอบคอบ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้รับราชการ ฉลองพระเดชพระคุณในพระคลังมหาสมบัติที่หอรัษฎากรพิพัฒน์ เปนพนักงานการเงินแผ่นดิน ซึ่งฝากแบงก์ ต่างประเทศก็ได้ทรงจัดการในตำแหน่งนั้นโดยถ้วนถี่ ลงแบบอย่างมิได้เคลื่อนคลาด และประกอบไปด้วยไหวพริบ มิได้เสียเปรียบในกระบวนเศษเลย ควรจะเปนที่สรรเสริญและเปนที่ไว้วางพระราชหฤทัยในการเรื่องนั้นได้ภายหลัง จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้รับตำแหน่งที่รองอธิบดีในกรมพระคลังมหาสมบัติ ก็ทรงกอปรไปด้วยความอุตสาหะอันยิ่งใหญ่ มิได้ย่อหย่อน ทรงตรวจตราจัดการในหอรัษฎากรพิพัฒน์ รวบรัดให้คงตามข้อพระราชบัญญัติ ซึ่งได้ละเลยไว้มิได้ จัดการเต็มตามกำหนด ให้ลงคงตามแบบได้เกือบจะทุกอย่าง ที่ยังไม่สำเร็จตลอดไปก็มิได้ละความมุ่งหมายที่จะให้ สำเร็จตลอดจงได้ มิได้ตกไปในภยาคติและความเกียจคร้านมึนชา จนการในหอรัษฎากรพิพัฒน์เจริญเรียบร้อยดี ขึ้น เห็นปรากฏได้ถนัด คือเงินแผ่นดินตั้งแต่ได้ทรงรับราชการในตำแหน่งมาก็มิได้มีติดค้างอยู่แก่เจ้าภาษีนาย อากรเหมือนแต่ก่อนเลย ถึงสองจำนวนปี ซึ่งไม่มีตัวอย่างมาแต่ก่อน พระราชทรัพย์ก็ยิ่งได้ตัวเงินทวีมากขึ้น เปน ความชอบอันยิ่งใหญ่ต่อแผ่นดิน บัดนี้ก็ทรงพระเจริญพระชนมายุประกอบด้วยวุฒิปรีชาสามารถในราชกิจใหญ่ๆ และทรงพระอุตสาหะ และมีพระหฤทัยจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเปนอันมาก สมควรที่จะเลื่อนพระเกียรติยศ ขึ้นเปนพระองค์เจ้าต่างกรม รับราชการฉลองพระเดชพระคุณต่างพระเนตรพระกรรณเปนที่ไว้วางพระราชหฤทัย พระองค์หนึ่งได้

จึงมีพระบรมราชโองการมาในพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ดำรัสสั่งให้สถาปนาพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้า วรวรรณากร ขึ้นเปนพระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณนาบัฏว่า พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ นาคนาม ทรงศักดิ์นา ๑๕,๐๐๐ ตามพระราชกำหนดอย่างพระองค์เจ้าต่างกรมใน พระบรมมหาราชวัง

เจ้ากรม เปนหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ ถือศักดินา ๖๐๐
ให้ทรงตั้ง ปลัดกรม เปนหมื่นจำนงค์นรินทรรักษา ถือศักดินา  ๔๐๐
สมุหบาญชี เปนหมื่นพลพรรคบริมาณ ถือศักดินา ๓๐๐

ในปีระกา พ.ศ. ๒๔๖๔ รัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระยศขึ้นเป็นกรมพระ

พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราวุธ ฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์เปนผู้ได้รับราชการฉลองพระเดชพระคุณ ในสมเด็จ พระบรมชนกาธิราช พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจุฬาลงกรณ์ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในตำแหน่งสำคัญมาแล้วหลายตำแหน่งกล่าวคือ จัดราชการพระคลังเปนต้น

จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้เลื่อนพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ ขึ้นเปน กรมพระมีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณนาบัฏว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงค์ มกุฎวงศนฤบดี มหากวีนิพันธวิจิตร ราชโกษาธิกิจจารุปการบรมนฤบาลมหาสวามิภักดิ์ ขัตติยศักดิ์อุดลพหุลกัยยาณวัตร ศรีรัตนตรัยคุณาลงกรณ์ นรินทรบพิตร นาคนาม ให้ทรงศักดินา ๑๕,๐๐๐ ตามพระราชกำหนดอย่างพระองค์เจ้าต่างกรมในพระบรมมหาราชวัง

เจ้ากรม เปนพระนราธปประพันธ์พงค์ ถือศักดินา ๘๐๐
ให้ทรงเลื่อน ปลัดกรม เปนหลวงจำนงนรินทรรักษ์ ถือศักดินา  ๖๐๐
สมุหบาญชี เปนขุนพลพรรคปริมาณ ถือศักดินา ๔๐๐

สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๗ เมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๑๐ แรม ๑๕ ค่ำ ปีมะแม ตรีศก จุลศักราช ๑๒๙๓ ตรงกับวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๔

พระชันษา  ๗๐ ปี

ทรงเป็นต้นราชสกุล วรวรรณ

ในเจ้าจอมมารดาเขียน (ท่านเป็นธิดาท่านอัน สิริวรรณและท่านอิ่ม สิริวรรณ)

“พี่ผ่อง” (พระองค์เจ้าหญิงผ่อง)

ประสูติในรัชกาลที่ ๔ เมื่อวันพฤหัสบดี เดือนอ้าย แรม ๘ ค่ำ ปีเถาะ นพศก จุลศักราช ๑๒๒๙ ตรงกับวันที่ ๑๙ ธันวาคม  ๒๔๑๐ ลำดับที่ ๑ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๘ เมื่อวันพุธ เดือน ๔ แรม ๑๐ ค่ำ ปีมะเมีย จัตวาศก จุลศักราช ๑๓๑๔ ตรงกับวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๕

พระชันษา  ๗๕ ปี

เจ้าจอมมารดา หม่อมราชวงศ์แข พึ่งบุญ (ธิดาหม่อมนก พึ่งบุญ ในหม่อมไกรสร)

“วุฒิไชยเฉลิมลาภ” (พระองค์เจ้าชายวุฒิไธยเฉลิมลาภ)

ประสูติเมื่อวันพุธ เดือนอ้าย ขึ้น ๖ ค่ำ ปีมะแม เบญจศก จุลศักราช ๑๒๔๕ ตรงกับวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๒๖ ลำดับที่ ๔๗ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทรงพระอักษรภาษาไทย และภาษาอังกฤษที่โรงเรียนราชกุมาร

พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้เสด็จไปทรงศึกษาวิชาการทางทหารเรือที่ประเทศอังกฤษ เมื่อจบได้เสด็จกลับมา รับราชการทหารเรือ ต่อมาได้ทรงดำรงพระยศเป็นนายพลเรือตรีตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือชายทะเล

ในปีชวด พ.ศ. ๒๔๕๕ รัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯ สถาปนาเฉลิมพระยศขึ้นเป็นกรมหมื่น สิงหวิกรมเกรียงไกร

พระบาทสมเด็จพระประเมนทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ ได้เสด็จออกไปศึกษาวิชาการ ณ ประเทศอังกฤษ ทรงศึกษาในทางทหารเรือ จนจบแล้วได้เข้าประจำการในกองทัพเรืออังกฤษพอมีความชำนิชำนาญพอสมควรแล้ว เมื่อเดือนธันวาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๔ เสด็จกลับจากการทรงศึกษาประเทศยุโรป ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้า สำรองราชการในกรมบัญชาการกระทรวงทหารเรือ ครั้งเดือนเมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๕ ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้เปนผู้บัญชาการกรมทหารชายทะเล เดือนเมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๓๐ ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งตำแหน่งเจ้ากรมยุทธศึกษา กระทรวงทหารเรือ และยังคงเปนผู้บัญชาการกรมทหาร ชายทะเลด้วย

จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สถาปนาพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ ขึ้นเปนพระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสิงห- วิกรมเกรียงไกร อัชนาม ทรงศักดินา ๑๕,๐๐๐ ตามพระราชกำหนดอย่างพระองค์เจ้าต่างกรมในพระบรมมหาราชวัง

เจ้ากรม เปนหมื่นสิงหวิกรมเกรียงไกร ถือศักดินา ๖๐๐
ให้ทรงตั้ง ปลัดกรม เปนหมื่นพรหมผไทพัฒนกร ถือศักดินา  ๕๐๐
สมุหบาญชี เปนหมื่นอินทรนครคณานุบาล ถือศักดินา ๓๐๐

ในปีวอก พ.ศ. ๒๔๖๓ รัชกาลที่ ๖ โปรดให้เลื่อนเป็นกรมขุน ฯ

พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ ฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสิงหวิกรมเกรียงไกร ทรงพระปรีชาสามารถในกิจราชการฝ่ายทหารเรือ ได้ทรงรับ ราชการตำแหน่งต่างๆ ในกระทรวงทหารเรือเปนที่เรียบร้อยเปนอันมาก ข้อความมีแจ้งอยู่ในประกาศ ตั้งกรม ครั้งก่อนนั้นแล้ว ต่อมาเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๕๘ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เปนเสนาธิการทหารเรือและ คงเปนเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือด้วย ครั้งปีพุทธศักราช ๒๔๖๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เปนจเรทหารเรือ ได้ทรงทำราชการในหน้าที่ให้ดำเนินเจริญขึ้นตลอดมาโดยลำดับ เมื่อครั้งทรงดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือ อยู่นั้น ประจวบสมัยประเทศสยามได้ประกาศสงครามแก่ประเทศเยอรมนี ออสเตรีย ฮังการี พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสิงหวิกรมเกรียงไกรได้เปนผู้ทรงกำหนดระเบียบการเรื่อง จักรเรือกลไฟใหญ่น้อยของราชศัตรูมาเปน ราชพัทยา การอันนั้นได้เปนผลสำเร็จอย่างดียิ่ง เปน ความดีความชอบของพระองค์ปรากฏอยู่แล้ว

จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้เลื่อน พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสิงหวิกรมเกรียงไกร ขึ้นเปน กรมขุน มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าน้องยาเธอกรมขุนสิงหวิกรมเกรียงไกร อัชนาม ทรงศักดินา ๑๕,๐๐๐ ตามพระราชกำหนดอย่างพระองค์เจ้าต่างกรมในพระบรมมหาราชวัง

เจ้ากรม เปนขุนสิงหวิกรมเกรียงไกร ถือศักดินา ๖๐๐
ให้ทรงเลื่อน ปลัดกรม คงเปนหมื่นพรหมไผทพัฒนกร ถือศักดินา  ๕๐๐
สมุหบาญชี คงเปนหมื่นอินทรนครคณานุบาล ถือศักดินา ๓๐๐

ใน พ.ศ. ๒๔๖๗ รัชกาลที่ ๗ โปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อนเป็นนายพลเรือเอก ตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ และเป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหม

เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ปีมะแม ตรีศก จุลศักราช ๑๒๙๓ พ.ศ. ๒๔๗๔ รัชกาลที่ ๗ โปรดเกล้า ฯ สถาปนาขึ้นเป็นกรมหลวง

ทรงพระราชดำริว่าพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมขุนสิงหวิกรมเกรียงไกร มีวุฒิปรีชาในราชการทหารเรือ ทรงปฏิบัติ ราชการในหน้าที่ตำแหน่งต่างๆ ตั้งแต่เสด็จกลับจากการศึกษา ณ ประเทศยุโรป เข้าสำรองราชการในกรมบัญชาการ บังคับการเรือ บัญชาการกรมชายทะเล บัญชาการกรมยุทธศึกษาโดยเรียบร้อย ด้วยพระอุตสาหะเปนอันดี ดังปรากฏ ในประกาศตั้งกรมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ แต่นั้นทรงดำรงตำแหน่งเปนจเรทหารเรือดำเนินราชการเจริญตลอดมา แม้มี เหตุการณ์สำคัญพิเศษประการในหน้าที่ กิจการนั้นๆ ก็ได้สำเร็จเปนผลอย่างดียิ่ง ซึ่งสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยกย่องไว้ในประกาศเลื่อนกรมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓ แล้ว เบื้องหน้าแต่นั้น ราชการทหารเรือในหน้าที่ พระเจ้าพี่ยาเธอกรมขุนสิงหวิกรมเกรียงไกร ดำเนินเทียมทันกาลสมัย อันควรบรรลุความ เจริญภิยโยภาพ สมพระบรมราโชบาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเกียรติยศให้เปนนายพลเรือเอก ดำรงตำแหน่งเสนาบดี กระทรวงทหารเรือ ทั้งนี้ เพราะพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมขุนสิงหวิกรมเกรียงไกร ทรงประกอบ ด้วยพระอุตสาหะวิริยสมบัติ

จึงมีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ดำรัสสั่งให้เลื่อนกรมพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมขุนสิงหวิกรมเกรียงไกร ขึ้นเปนกรมหลวง มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงสิหวิกรมเกรียงไกร อัชนาม ทรงศักดินา ๑๕,๐๐๐ ตามพระราชกำหนดอย่างพระองค์เจ้าต่างกรม ในพระบรมมหาราชวัง

เจ้ากรม เปนหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร ถือศักดินา ๘๐๐
ให้ทรงตั้ง ปลัดกรม เปนขุนพรหมไผทพัฒนกร ถือศักดินา  ๖๐๐
สมุหบาญชี คงเปนหมื่นอินทรนครคณานุบาล ถือศักดินา ๔๐๐

ตลอดเวลา ๒๗ ปี ที่ทรงปฏิบัติราชการได้ทรงดำรงตำแหน่งต่างๆ ดังนี้

  • พ.ศ. ๒๔๔๘  สำรองราชการบัญชาการกลาง
  • พ.ศ. ๒๔๔๙  ผู้บังคับการเรือมกุฎราชกุมาร
  • พ.ศ. ๒๔๔๙  ผู้บัญชาการทหารเรือชายทะเล
  • พ.ศ. ๒๔๕๔  รั้งเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ
  • พ.ศ. ๒๔๕๖  เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ
  • พ.ศ. ๒๔๕๖  รั้งเสนาธิการทหารเรือ
  • พ.ศ. ๒๔๕๘  เสนาธิการทหารเรือ
  • พ.ศ. ๒๔๖๐  จเรทหารเรือ
  • พ.ศ. ๒๔๖๗  เสนาบดี กระทรวงทหารเรือ
  • พ.ศ. ๒๔๗๔  เสนาบดี กระทรวงกลาโหม

สิ้นพระชนม์ในรัชกาลปัจจุบัน (รัชกาลที่ ๙) เมื่อวันเสาร์ เดือน ๑๑ ขึ้น ๔ ค่ำ ปีกุน นพศก จุลศักราช ๑๓๐๙ ตรงกับวันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๐  เวลา ๑๑.๓๐ นาฬิกา ที่วังถนนกรุงเกษม (ปัจจุบันคือกรม- ประชาสงเคราะห์) กรุงเทพมหานคร

พระชันษา ๖๔ ปี

ทรงเป็นต้นราชสกุล  วุฒิชัย

ที่ ๓ ในเจ้าจอมมารดาทับทิม (โรจนดิศ)

หน้า จาก ๒๗ หน้า