ระหว่างหอพระธาตุมณเฑียรกับองค์พระที่นั่งไพศาลทักษิณ มีมุขกระสันต่อเนื่องระหว่างองค์พระที่นั่งและหอ เช่นเดียวกับทางหอพระสุราลัยพิมาน
ผนังภายในมุขกระสัน หรือที่เรียกว่าพระเฉลียงหน้าหอนั้น ตอนบนเขียนเป็นภาพลวดลายเครื่องมงคลแบบจีน เชิงผนังตอนล่างเป็นภาพขบวนเรือพายในท้องน้ำ และภาพโรงช้างต้นม้าต้น ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นภาพฝีพระหัตถ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ผนังด้านเหนือเจาะเป็นช่องพระบัญชรเปิดออกสู่ลานข้างพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยฝ่ายตะวันตก พระบัญชรนี้ เรียกกันว่า “สีหบัญชร” เป็นที่ที่สมเด็จพระมาหกษัตริยาธิราชเจ้าเสด็จฯ ออกให้เฝ้าฯ แทนการเสด็จฯ ออกใน ท้องพระโรง ส่วนมากเป็นการเสด็จฯ ออกให้เฝ้าเป็นการฉุกเฉินในเวลาวิกาล
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังประทับอยู่ ณ พระที่นั่งในหมู่พระมหามณเฑียรนี้ เคยเสด็จฯ ออกขุนนาง ณ สีหบัญชรนี้ แทนการเสด็จฯ ออก ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยบ้างเป็นบางครั้งบางคราว และเมื่อคราวคณะราชทูตไทย อันมีพระยามนตรีสุริวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) ราชทูต เจ้าหมื่นสรรเพธภักดี (เพ็ญ เพ็ญกุล)อุปทูตจมื่นมณเฑียรพิทักษ์ (ด้วง) ตรีทูต หม่อมราโชทัย (ม.ร.ว. กระต่าย อิศรางกูร) ล่าม ซึ่งได้อัญเชิญพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการไปถวายสมเด็จพระบรมราชินีนาถวิกตอเรีย แห่ง กรุงบริเตนใหญ่ เป็นการเจริญทางพระราชไมตรี ได้เดินทางกลับเข้ามาถึงกรุงเทพพระมหานคร เมื่อวันเสาร์ เดือน ๗ ขึ้น ๑๐ ค่ำ จุลศักราช ๑๒๒๐ (พ.ศ. ๒๔๐๑) นั้น บังเอิญมาถึงในเวลากลางคืน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าฯ เป็นการภายใน ณ สีหบัญชรนี้ในราตรีนั้น และในวันรุ่งขึ้นจึงเข้าเฝ้าฯ เป็นทางการ ณ ท้องพระโรง พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย (ดูเพิ่มเติมจากจดหมายเหตุของหม่อมราโชทัย)