สารบัญ
“ชายเพ็ญ”- “รังสิต”
“ชายเพ็ญ” (พระองค์เจ้าชายเพ็ญพัฒนพงศ์)

ประสูติเมื่อวันพุธ เดือน ๑๐ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีมะเมีย จัตวาศก จุลศักราช ๑๒๔๔ ตรงกับวันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๕ ลำดับที่ ๔๑ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ได้เสด็จไปทรงศึกษาในประเทศอังกฤษ

ในปีวอก สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๗๐ พ.ศ. ๒๔๕๑ รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ ได้เสด็จไปเล่าเรียนวิชา ณ ประเทศยุโรป  ครั้นเมื่อเสด็จ กลับมารับราชการตำแหน่งผู้ช่วยปลัดทูลฉลอง กระทรวงเกษตราธิการมีหน้าที่เฉพาะจัดการในกรมช่าง ไหม และตระเตรียมซึ่งจะตั้งตำแหน่งกรมเพาะปลูก อันนับว่าเปนกิจการเกิดขึ้นใหม่ ถึงว่าความดำเนิน ไปของการเหล่านี้ยังไม่ถึงที่ซึ่งควรจะนับว่ามีผล ก็ได้ทรงรับราชการในกระทรวง ซึ่งเปนเวลาบกพร่อง แทนตำแหน่งปลัดทูลฉลองและสั่งราชการในกระทรวง ก็มีพระกำลังไม่สู้สมบูรณ์ดี แต่ประกอบด้วย ความอุตสาหะในราชกิจตามสามารถบัดนี้ก็มีพระชนมายุเจริญวัย สมควรที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกย่องขึ้นไว้ เปนพระองค์เจ้าต่างกรมพระองค์หนึ่งได้

จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สถาปนาพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ ขึ้นเปน พระองค์เจ้าต่างกรมมีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม - มุสิกนาม ทรงศักดินา ๑๕,๐๐๐ ตามพระราชกำหนดอย่างพระองค์เจ้าต่างกรมในพระบรมมหาราชวัง

เจ้ากรม เปนหมื่นพิไชยมหินทโรดม ถือศักดินา ๖๐๐
ให้ทรงตั้ง ปลัดกรม เปนหมื่นพิพัฒนนิคมอนุกูล ถือศักดินา  ๔๐๐
สมุหบาญชี เปนหมื่นปัตยูรบำรุงพล ถือศักดินา ๓๐๐

สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ แรม ๑๓ ค่ำ ปีระกา เอกศก จุลศักราช ๑๒๗๑ ตรงกับวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๒

พระชันษา ๒๘ ปี

ทรงเป็นต้นราชสกุล เพ็ญพัฒน์

ที่ ๒ ในเจ้าจอมมารดามรกฎ

“องค์ชายบุรฉัตร” (พระองค์เจ้าชายบุรฉัตรไชยากร)

ประสูติเมื่อวันจันทร์ เดือน ๓ ขึ้น ๔ ค่ำ ปีมะเส็ง ตรีศก จุลศักราช ๑๒๔๓ ตรงกับวันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๔ ลำดับที่ ๓๘ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เมื่อปีมะเมีย อัฐศก จุลศักราช ๑๒๖๘ พ.ศ. ๒๔๔๙ รัชกาลที่ ๕ ทรงสถาปนาเป็นกรมหมื่นกำแพงเพ็ชร อัครโยธิน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร ได้เสด็จออกไปศึกษาวิชาการ ณ ประเทศอังกฤษ ภายหลัง ได้ทรงศึกษาในวิชาทหารช่าง และเสด็จกลับเข้ามารับราชการฉลองพระเดชพระคุณในกรมยุทธนาธิการ ทรงพระอุตสาหะพากเพียรในราชการมิได้ท้อถอยทรงพระปรีชาสามารถในราชการทั้งปวงสมควรแก่หน้าที่  บัดนี้ ก็เจริญพระชนมายุควรที่จะรับพระเกียรติยศเปนพระองค์เจ้าต่างกรม ในพระบรมมหาราชวัง

เจ้ากรม เปนหมื่นกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ถือศักดินา ๖๐๐
ให้ทรงตั้ง ปลัดกรม เปนหมื่นขาณุบุรินทรโยธี ถือศักดินา  ๔๐๐
สมุหบาญชี เปนหมื่นโกสัมพีพลโยธา ถือศักดินา ๓๐๐

ได้ทรงงานราชการทางทหารจนเลื่อนพระยศเป็น นายพลตรีราชองครักษ์ ตำแหน่งผู้บัญชาการกองพล และเป็นจเรการช่างทหารบก

รัชกาลที่ ๖ ได้เลื่อนเป็นนายพลโท ราชองครักษ์ ตำแหน่งแม่ทัพน้อย

ใน พ.ศ. ๒๔๙๕ รัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อนเป็นกรมขุน

พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิรวุธ ฯ พระมงกุฎกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระดำริว่า พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ได้ทรงรับราชการในตำแหน่งนี้ ได้ทรงพระดำริ วางระเบียบวิธีจัดการงานในกรม ให้เรียบร้อยเปนหลักฐานทั้งได้ทรงแต่งตำราเรียนและทรงตำราการสอน ด้วยพระองค์เอง และแนะนำให้ผู้อื่นสอนในวิชาช่างสำหรับทหาร นับว่าเปนบ่อเกิดแห่งวิชาทหาร ในกองทัพบกสยามเปนอย่างดีเพราะพระองค์ท่านเปนผู้รอบรู้กิจการช่างทุกประเภททั้งทางทหาร และพลเรือนเปนอย่างดี

นอกจากนี้ได้ทรงรับราชการในตำแหน่งต่างๆ พร้อมกันไปตำแหน่งจเรการช่างทหารบกคือทรงเปน ผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ ๓ เปนพระองค์แรกในตำแหน่งนั้น แล้วทรงเปนผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ ๑ รักษาพระองค์ ซึ่งแต่ก่อนมากองพลนี้ไม่เคยออกทำการในสนามได้เลย พึ่งมาออกทำการได้ในสมัยที่พระองค์ ท่านเปนผู้บัญชาการเปนต้นมา เห็นว่ากองพลนี้มีความเจริญผิดแปลกขึ้นเปนอันมาก แล้วได้ทรงเปนแม่ทัพ กองทัพน้อยทหารบกที่ ๑ เปนพระองค์แรกในตำแหน่งนี้ ได้ทรงการงานให้เปนระเบียบแบบแผนเปนอันดี ต่อมา ได้ทรงเปนจเรทัพบกและการปืนเลกปืนกล อันเปนตำแหน่งที่ต้องตรวจการทหาร และทางการงาน ทุกสิ่งทุกอย่างทั่วไปทั้งพระราชอาณาจักรเพื่อให้การดำเนินไปถูกต้องตามกฎข้อบังคับของกระทรวงกลาโหม เปนตำแหน่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เคยทรงดำรงมาครั้งยังดำรงพระราชอิสริยยศ เปนสมเด็จพระยุพราช

นอกจากนี้ ยังได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณในราชกิจส่วนพระองค์อีกหลายอย่าง อาทิวางทางรถไฟ และเดินรถไฟขนาดย่อมที่นครปฐม และจัดจเรจำลองนาวายุทธ์เปนต้น

เมื่อได้พิจารณาการงานที่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นกำแพงเพ็ชรอัครโยธินได้ทรงกระทำมา เปนที่เห็น ได้ว่าพระองค์เปนผู้ประกอบด้วยพระคุณวุฒิปรีชาสามารถในราชการและประกอบด้วยพระอุตสาหะวิริยะ เปน อย่างยิ่ง เมื่อได้ทรงรับราชการอยู่ในตำแหน่ใดก็ได้ทรงจัดราชการในตำแหน่งนั้น ให้ได้ระเบียบเรียบร้อย เปนหลักฐานอันดี มีความเจริญเปนผลเห็นปรากฏ ทั้งได้ทรงพระอุตสาหะเสด็จออกไปเที่ยวทรงตรวจการทหาร บก ทั้งในกรุงฯ และหัวเมืองเนืองๆ  มิได้ทรงเห็นแก่ความลำบากเหน็ดเหนื่อย สมควรจะนับว่าทรงเปนผู้สามารถ ในราชกิจเปนอย่างเอกได้พระองค์ ๑ อีกทั้งในส่วนพระองค์ กรมหมื่นกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ก็ได้ทรงสำแดง ปรากฏชัด ด้วยประการต่างๆ ว่า ทรงมีความจงรักภักดีรักใคร่ในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทยิ่งนัก จึงได้ทรงรับ ราชการในพระองค์โดยความเต็มพระทัยทุกเมื่อ มิได้ทรงเห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยในเมื่อใดๆ เลย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเห็นน้ำพระหฤทัยของพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์นี้โดยถ่องแท้แล้ว จึงทรงพระราชเสน่หาและทรงพระเมตตานัก และทรงพระราชดำริว่าสมควรเลื่อนพระราชอิสริยยศให้ยิ่งขึ้น

จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้เลื่อน พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นกำแพงเพชรอัครโยธิน เปนกรมขุน มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน พยัคฆนาม ให้ทรงศักดิ์นา ๑๕,๐๐๐ ตามพระราชกำหนดอย่างพระองค์เจ้าต่างกรมในพระบรมมหาราชวัง

เจ้ากรม เปนขุนกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ถือศักดินา ๘๐๐
ให้ทรงเลื่อน ปลัดกรม เปนหมื่นขาณุบุรินทรโยธี ถือศักดินา  ๖๐๐
สมุหบาญชี เปนหมื่นโกสัมพีพลโยธา ถือศักดินา ๓๐๐

เมื่อปีจอ จัตวาศก จุลศักราช ๑๒๘๔ พ.ศ. ๒๔๖๕ รัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนเป็นกรมหลวง

พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรามหาวชิราวุธ ฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ได้รับราชการฉลองพระเดชพระคุณมาในกระทรวงกลาโหม ในหน้าที่ต่างๆ คือ ทรงดำรงตำแหน่งจเรการช่างทหารบก และเปนผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ ๓ แล้วเปน ผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ ๑ รักษาพระองค์ เปนแม่ทัพกองทัพน้อย ทหารบกที่ ๑ แล้วเปนจเรทัพบก และการปืนเล็ก ปืนกลโดยลำดับมา ได้ทรงปฏิบัติราชการในหน้าที่ให้ดำเนินเจริญยิ่งขึ้นเปนอเนกประการ ด้วยพระคุณวุฒิปรีชาญาณอันสามารถประกอบด้วยพระวิริยะอุตสาหะเปนอย่างยิ่ง ดังมีข้อความปรากฏอยู่ใน ประกาศเลื่อนกรมครั้งก่อนนั้นแล้ว

ต่อมาเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๖๐ ทรงพระราชดำริเห็นว่าการรถไฟเปนการงานที่สำคัญ ด้วยเปนการที่ กระทำให้บังเกิดผลประโยชน์และนำซึ่งความเจริญแก่ประเทศแต่ส่วนการบังคับบัญชาแยกกันอยู่เปน ๒ แผนก คือ รถไฟทางสายเหนือแผนก ๑ รถไฟทางสายใต้แผนก ๑ มิได้รวมกัน  ซึ่งจะได้ประหยัดพระราชทรัพย์ในการ จ่ายและบำรุงจัดประโยชน์ให้เจริญเร็วยิ่งขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนกำแพง เพ็ชรอัครโยธิน รับราชการสนองพระเดชพระคุณในตำแหน่งผู้บัญชาการกรมรถไฟโปรดเกล้า ฯ ให้รวมการรถไฟ ทางสายเหนือและทางสายใต้เข้าอยู่ในกรมบัญชาการอันเดียวกันครั้นเมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๖๐ นั่นเอง ประเทศสยามได้ประกาศสงครามกับประเทศเยอรมนี ออสเตรีย ฮังการี ในขณะนั้นราชการของการรถไฟ หลวงมีกิจการสำคัญอยู่ที่แผนกทางสายเหนือ ซึ่งได้ใช้ชนชาติเยอรมันประจำการอยู่เปนอันมากแต่เดิมมา อาศัย พระปรีชาของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ทรงดำเนินราชการในเหตุการณ์อันสำคัญนี้ด้วย ความว่องไวสามารถได้ทรงจัดข้าราชการไทย และชนชาติสัมพันธมิตรเข้ารับเปลี่ยนหน้าที่การงานกับชนชาติ ศัตรู โดยฉับพลัน ได้จัดให้การก่อสร้าง และการเดินรถไฟคงให้ดำเนินเปนปกติเรียบร้อยโดยตลอด มิได้มีเหตุ เสียหายเลย

อนึ่ง ทรงพระราชดำริเห็นว่า การทางซึ่งแต่เดิมได้แยกความบังคับบัญชาอยู่ต่างหากโดยพระบรมราชประสงค์ เพื่อดำเนินการคมนาคมของประเทศให้โยงเนื่องติดต่อกันเปนระเบียบ และเพื่อประหยัดพระราชทรัพย์แผ่นดิน ที่ต้องใช้จ่ายอยู่ในแผนกกรมทางให้ลดน้อยลงทั้งเพื่อได้บำรุงทางให้นำประโยชน์มารวมเข้าในทางรถไฟ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้โอนกรมทางมาขึ้นอยู่ในกรมรถไฟแผ่นดิน พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ก็ได้ตั้งพระทัยรับราชการสนองพระเดชพระคุณโดยเต็มพระกำลังความสามารถ ทรงจัดวางระเบียบแบบแผนดำเนินการที่จะให้ทางหลวงอันสำคัญสำเร็จลุล่วงไปโดยเร็วสมพระบรมราชประสงค์

ในระยะเวลาที่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนกำแพงเพ็ชรอัครโยธินทรงรับราชการเปนผู้บังคับการกรมรถไฟ แผ่นดินและกรมทาง ได้ทรงจัดราชการให้เปนปึกแผ่นเจริญมั่นคงยิ่งขึ้นเปนอันมาก คือได้จัดวางระเบียบการ สำรวจทำทะเบียนที่ดินของกรมรถไฟเพื่อรักษาผลประโยชน์และสมบัติของแผ่นดินให้เปนหลักฐานยิ่งขึ้น และได้ ทรงจัดการก่อสร้างทางรถไฟสายใต้ให้เปนอันบรรลุแล้วเสร็จตามกำหนดที่ได้มุ่งหมายไว้ในหนังสือสัญญา และได้จัดการเดินรถติดต่อกันกับรถไฟสายแหลมมาลายู ส่วนทางรถไฟสายเหนือก็ได้ก่อสร้างไปจนถึงที่สุด ปลายทางที่นครเชียงใหม่ ซึ่งได้กำหนดไว้แต่เดิม เปนอันผูกโยงแว่นแคว้นแห่งพระราชอาณาจักรให้ต่อเนื่อง ไปมาถึงกันกับกรุงเทพพระมหานครได้โดยสะดวกรวดเร็วแล้ว และยังมีการสร้างทางรถไฟไปยังอุบลราชธานี สาย ๑ ไปยังอรัญประเทศ ซึ่งติดต่อกับเขตแดนเขมรอีกสาย ๑ และจัดการเชื่อมทางรถไฟสายในฝั่งตะวันออก กับฝั่งตะวันตกแห่งลำแม่น้ำเจ้าพระยา โดยสร้างสะพานข้ามแม่น้ำให้ขบวนรถเดินถึงกันได้ เพื่อความสะดวก ในการรับส่งสินค้าและการปกครอง อันยังกำลังจัดทำอยู่จนบัดนี้ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ก็ได้ทรงพยายามจัดการดำเนินตามพระบรมราโชบายที่จะให้ราชการเปนผลสำเร็จลุล่วงไปตามพระราชประสงค์ ที่กำหนดไว้นั้นทุกประการ

และด้วยเหตุที่กรมรถไฟแผ่นดินมีหน้าที่ปกครองทุนทรัพย์สมบัติอันใหญ่ของแผ่นดิน และดำเนินการเพื่อ ให้บังเกิดผลประโยชน์แผ่นดิน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน รับราชการสนองพระเดชพระคุณเปนกรรมการของสภาเผยแผ่พาณิชย์ โดยตำแหน่งอีกหน้าที่หนึ่งด้วย

ตามที่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณมา ทั้งฝ่ายทหาร และพลเรือนหลายตำแหน่งล้วนแต่เปนตำแหน่งที่สำคัญ มิได้ทรงมีความย่อท้อต่อความลำบากยากเหนื่อยเปนที่ส่อ ให้เป็นพระคุณวุฒิปรีชาสามารถและกำลังพระอุตสาหะวิริยภาพอันแรงกล้าของพระองค์เปนอย่างเอก และพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบตระหนักแน่ในพระราชหฤทัยว่า กรมขุนกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ทรงมีความมั่นคง เปนอเนกประการ คือมั่นคงในความจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททั้งในส่วนที่ ทรงเป็นประมุขแห่งชาติบ้าน เมือง ทั้งในส่วนพระองค์ทรงเปนเชษฐาและกุลทายาท และความจงรักภักดีอันนี้เอง บันดาลให้กรมขุนกำแพงเพ็ชร อัครโยธิน ทรงมั่นคงในความอุตสาหะวิริยภาพทรงรับมอบกรณีใดก็มิได้ทรงย่อท้อต่อความลำบากเลย ทรงบากบั่น ทำราชการสนองพระเดชพระคุณไปจนเต็มสติกำลังทุกเมื่อ นับว่าเปนตัวอย่างอันดีสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ จึง เปนผู้ที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัย สมควรที่จะเลื่อนพระอิสริยยศขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมผู้ใหญ่ได้

จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้เลื่อน พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน เปนกรมหลวง มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน พยัคฆนาม ทรงศักดินา ๑๕,๐๐๐ ตามพระราชกำหนดอย่างพระองค์เจ้าต่างกรมในพระบรมมหาราชวัง

เจ้ากรม เป็นหลวงกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ถือศักดินา ๘๐๐
ให้ทรงเลื่อน ปลัดกรม เปนขุนขานุบุรินทรโยธี ถือศักดินา  ๖๐๐
สมุหบาญชี คงเปนหมื่นโกสัมพีพลโยธา ถือศักดินา ๔๐๐

เมื่อปีมะเส็ง เอกศก จุลศักราช ๑๒๙๑  พ.ศ. ๒๔๗๒ รัชกาลที่ ๗ โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนกรมขึ้นเป็นกรมพระ

จึ่งมีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ดำรัสสั่งให้เลื่อนกรมพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ขึ้นเปนกรมพระ มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ประชาธิบดินทราเจษฎาภาดาปิยมหาราชวังศ์วิศิษฎ์ อเนกยนตรวิจิตรกฤตยโกศล วิมลรัตนมหาโยธาธิบดี ราชธุรันธรีมโหฬาร พาณิชยการคมนาคม อุดมรัตนตรัยสรณธาดา มัททวเมตตาชวาศรัย ฉัตรชัยดิลกบพิตร พยัคฆนาม ให้ทรงศักดินา ๑๕,๐๐๐ ตามพระราชกำหนดอย่างพระองค์เจ้าต่างกรมใน พระบรมมหาราชวัง

เจ้ากรม เป็นพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ถือศักดินา ๘๐๐
ให้ทรงตั้ง ปลัดกรม เปนหลวงขาณุบุรินทรโยธี ถือศักดินา  ๖๐๐
สมุหบาญชี เปนขุนโกสัมพีพลโยธา ถือศักดินา ๔๐๐

ใน พ.ศ. ๒๔๗๕ ทรงกำกับก่อสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้า ฯ

สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๘ เมื่อวันจันทร์ เดือน ๑๐ แรม ๑๓ ค่ำ ปีชวด อัฐศก จุลศักราช ๑๒๙๘ ตรงกับวันที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ที่สิงคโปร์

พระชันษา ๕๕ ปี

ทรงเป็นต้นราชสกุล ฉัตรชัย

“องค์หญิงเยาวภา” (พระองค์เจ้าหญิงเยาวภาพงค์สนิท)

ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๑๐  ขึ้น ๘ ค่ำ ปีวอก ฉศก จุลศักราช ๑๒๔๖ ตรงกับวันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๒๗  ลำดับที่ ๕๒ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๗ เมื่อวันพุธ เดือน ๘ ขึ้น ๒ ค่ำ ปีจอ ฉศก จุลศักราช ๑๒๖๙ ตรงกับวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๗

พระชันษา ๕๐ ปี

ที่ ๑ ในเจ้าจอมมารดา หม่อมราชวงศ์เนื่อง สนิทวงศ์ (ท่านเป็นธิดาพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์)

“อรประพันธ์” (พระองค์เจ้าหญิงอรประพันธ์รำไพ)

ประสูติเมื่อวันอังคาร เดือน ๘ ปฐมาสาฒ แรม ๑๑ ค่ำ ปีระกา สัปตศก จุลศักราช ๑๒๔๗ ตรงกับวันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๒๘ ลำดับที่ ๕๔ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

สิ้นพระชนในรัชกาลที่ ๗ เมื่อวันศุกร์ เดือน ๗ ขึ้น ๓ ค่ำ ปีระกา เบญจศก จุลศักราช ๑๒๙๕ ตรงกับวันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๖

พระชันษา  ๔๘ ปี

ที่ ๑ ในเจ้าจอมมารดาอ่อน (ท่านเป็นธิดาพระยาสุรพันธุ์พิสุทธ (เทศ บุนนาค) และท่านผู้หญิงอู่)

“วรประภาพิไลย (หญิงแฝด)” (พระองค์เจ้าหญิง (แฝด) ประภาพรรณพิไลย)

ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๙ ขึ้น ๓ ค่ำ สัปตศก จุลศักราช ๑๒๔๗ ตรงกับวันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๒๘ ลำดับที่ ๕๖ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

สิ้นพระชนม์ในรัชกาลปัจจุบัน (รัชกาลที่ ๙) เมื่อวันพุธ เดือน ๑๐ ขึ้น ๖ ค่ำ ปีชวด สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๓๑๐ ตรงกับวันที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๑

พระชันษา  ๖๓ ปี

ที่ ๑ ในเจ้าจอมมารดาพร้อม (ท่านเป็นธิดาพระยาพิษณุโลกกาธิบดี (บัว))

“วรประไพพิลาส” (หญิงแฝด)” (พระองค์เจ้าหญิง (แฝด) ประไพพรรณพิลาส)

ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๙ ขึ้น ๓ ค่ำ ปีระกา สัปตศก จุลศักราช ๑๒๔๗ ตรงกับวันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๒๘ ลำดับที่ ๕๗ ในพระบาทสมเดด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อวันพุธ เดือน ๑๒ แรม ๗ ค่ำ ปีจอ อัฐศก จุลศักราช ๑๒๔๘ ตรงกับวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๒๙

พระชันษา ๑ ปี ๓ เดือน

ที่ ๒ ในเจ้าจอมมารดาพร้อม

“รังสิต” (พระองค์เจ้าชายรังสิตประยุรศักดิ์)

ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๑๒ ขึ้น ๖ ค่ำ ปีระกา สัปตศก จุลศักราช ๑๒๔๗ ตรงกับวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๒๘ ลำดับที่ ๕๘ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในปีขาล ฉศก จุลศักราช ๑๒๗๖ พ.ศ. ๒๔๕๗ รัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเป็น กรมหมื่นชัยนาทนเรนทร

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ ฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยุรศักดิ์ ได้เสด็จไปทรงศึกษาวิชาการ ณ ประเทศเยอรมนี จนได้เข้า มหาวิทยาลัยไฮเด็ลแบร์ก ทรงเอาพระทัยใส่ในวิธีการศึกษาได้เสด็จกลับเข้ามารับราชกาลฉลองพระเดชพระคุณ ตำแหน่งผู้ช่วยปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการ และมีหน้าที่พิเศษเปนผู้ตรวจการโรงเรียนราชแพทยาลัย และโรงเรียนฝึกหัดครูพระองค์เจ้ารังสิตประยุรศักดิ์ เปนพระเจ้าน้องยาเธอที่สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ได้ทรงทำนุบำรุงตั้งแต่พระเยาว์จนกาลทุกวันนี้ นับว่าเปนที่สนิทชิดชอบในพระองค์อีกส่วนหนึ่ง บัดนี้ก็ทรงเจริญพระชนมายุและกอปรด้วยวุฒิปรีชาสามารถสมควรที่จะเลื่อนพระอิสริยยศ เปนพระองค์เจ้าต่างกรม พระองค์ ๑ ได้

จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สถาปนา พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยุรศักดิ์ ขึ้นเปน พระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่าพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นชัยนาทนเรนทร สิงหนาม ทรงศักดินา ๑๕,๐๐๐ ตามพระราชกำหนดอย่างพระองค์เจ้าต่างกรมในพระบรมมหาราชวัง

เจ้ากรม เปนหมื่นชัยยาทนเรนทร ถือศักดินา ๖๐๐
ให้ทรงตั้ง ปลัดกรม เปนหมื่นอุไทยนครคุณาคม ถือศักดินา  ๕๐๐
สมุหบาญชี เปนหมื่นมโนรมย์บำรุงราษฎร ถือศักดินา ๓๐๐

ในปีจอ จัตวาศก จุลศักราช ๑๒๘๔ พ.ศ. ๒๔๖๕ รัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนกรมขึ้นเปนกรมขุน

พระบาทสมเด็จพระราราธิบดีศรีสินทรามหาวชิราวุธ ฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นชัยนาทนเรนทร เดิมได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้รับราชการสนองพระเดช พระคุณในตำแหน่งผู้ช่วยปลัดทูลฉลองกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งให้ทรงรับราชการในหน้าที่พิเศษต่างๆ มีหน้าที่ เปนผู้ตรวจการโรงเรียนราชแพทยาลัย และโรงเรียนฝึกหัดครูเปนต้น ได้ทรงปฏิบัติราชการเปนที่เรียบร้อยเจริญ ขึ้นด้วยพระคุณวุฒิปรีชาสามารถเปนอันมาก ดังปรากฎในประกาศตั้งกรมครั้งก่อนนั้นแล้ว

ต่อมาเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๕๘ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นชัยนาทนเรนทร เปนผู้บัญชาการโรงเรียนราชแพทยาลัย ก็ได้ตั้งพระทัยรับราชการสนองพระเดชพระคุณด้วยความสามารถ ได้จัด วางระเบียบแบบแผนการโรงเรียนให้เรียบร้อยเจริญยิ่งขึ้นเปนอเนกประการ กล่าวคือ ได้ทรงแก้ไขและขยายหลักสูตร การศึกษาวิชาแพทย์ทั้งจัดระเบียบการสอนวิชา และการฝึกหัดนักเรียนแทพย์ นักเรียนปรุงยา นักเรียนพยาบาล และนักเรียนผดุงครรภ์ให้ดีขึ้น

ส่วนโรงเรียนพยาบาลศิริราชซึ่งรวมอยู่ในโรงเรียนราชแพทยาลัยนั้น ก็ได้ทรงจัดระเบียบการขึ้นใหม่ให้ กิจการดำเนินไปตามแบบโรงพยาบาลตามสมัยนิยม เปนประโยชน์แก่การสอนวิชาและฝึกหัสแพทย์ และการพยาบาลยิ่งขึ้นด้วย

เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๖๐ โปรดเกล้า ฯ ให้รวมโรงพยาบาลราชแพทยาลัยกับโรงเรียนข้าราชการพลเรือน เปนโรงเรียนเดียวกัน ตั้งขึ้นเปนจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นชัยยาทนเรนทรรับราชการในตำแหน่งอธิบดีได้ทรงวางระเบียบการปกครองจัดหลักสูตรและการสอน ในมหาวิทยาลัย ให้เปนหลักฐานเจริญยิ่งขึ้น

ครั้นถึงปีพุทธศักราช ๒๔๖๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มาเปนอธิบดีกรมสาธารณาสุข ก็ได้ทรงจัดวาง โครงการสาธารณสุขสำหรับประเทศซึ่งจัดให้เจริญยิ่งขึ้น และได้เริ่มดำเนินวิธีงานตามโครงการนั้นมาจนบัดนี้

ส่วนราชการในแผนกเสือป่า เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๕๙ โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกรมนักเรียนแพทย์เสือป่าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ขึ้น และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นชัยนาทนเรนทร  เปน ผู้บังคับการ ก็ได้ทรงพระอุตสาหะปฏิบัติการงานวางระเบียบ และการฝึกหัดสั่งสอนให้แพทย์และนักเรียนแพทย์ ในกรมนี้มีความรู้ความสามารถทำการพยาบาลในสนาม และทรงจัดกองพยาบาลเสือป่าไปทำการพยาบาล และจัดการสุขาภิบาลในเวลาฝึกซ้อมวิธียุทธเสือป่าทุกคราวมา ทั้งทรงพระอุตสาหะเสด็จออกไปในการฝึกซ้อม ยุทธวิธีด้วยพระองค์เองด้วย

เมื่อพิจารณาการงานที่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นชัยนาทนเทนทรได้ทรงปฏิบัติราชการมา ย่อมสำแดง ปรากฏชัดว่า เมื่อได้ทรงรับราชการในตำแหน่งใดก็ตั้งพระทัยสนองพระเดชพระคุณด้วยพระปรีชาสามารถกอปร ด้วยพระอุตสาหะและพิริยภาพมิได้ย่อหย่อนในส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงเปนผู้สนิท ชิดชอบพระราชอัธยาศัยแต่เดิมมา จึงทรงตระหนักชัดในพระราชหฤทัยในความจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าละออง ธุลีพระบาทโดยมั่นคงเปนที่ไว้วางพระราชหฤทัย สมควรจะเลื่อนพระอิสริยยศให้ใหญ่ยิ่งขึ้น

จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นชัยนาทนเรนทรเปนกรมขุน มีพระนามตาม จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร สิงหนาม ทรงศักดินา ๑๕,๐๐๐ ตาม พระราชกำหนดอย่างพระองค์เจ้าต่างกรมในพระบรมมหาราชวัง

เจ้ากรม เปนขุนชัยนาทนเรนทร ถือศักดินา ๖๐๐
ให้ทรงเลื่อน ปลัดกรม เปนหมื่นอุทัยนครคุณาคม ถือศักดินา  ๕๐๐
สมุหบาญชี เปนหมื่นมโนรมย์บำรุงราษฎร์ ถือศักดินา ๓๐๐

ในวันที่ ๘ พฤษภาคม ปีขาล โทศก จุลศักราช ๑๓๑๒ พ.ศ. ๒๔๙๓ รัชกาลปัจจุบัน (รัชกาลที่ ๙) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระยศเลื่อนขึ้นเป็นกรมพระ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระราชอนุสรณ์คำนึงถึง พระราชจริยนุวัตรที่ได้ทรงประพฤติปฏิบัติเพื่อเป็นสวัสดิมงคลแก่บรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียรครั้งนี้ เป็นต้นว่า การบูชาพระศรีรัตนตรัย และเทพยพลีทักษิณานุประทาน อุทิศสนอง พระเดชพระคุณ  สมเด็จพระบุพการี และ พระราชกรณียกิจทั้งปวงก็ได้ทรงบำเพ็ญแล้ว บัดนี้ทรงพระราชปรารภถึงพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งทรงพระคุณเป็นที่ เชิดชูพระเกียนติยศของพระราชวงศ์ และที่ได้มีคณูปการมาแก่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมควรจะเฉลิม พระเกียรติยศสนองพระคุณเนื่องในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามราชประเพณีซึ่งเคยมีมาแต่ก่อน

ทรงพระราชดำริว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ได้ทรงรับราชการสนองพระเดชพระคุณใน สมเด็จพระบรมปิตุลาธิราช  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในตำแหน่งหน้าที่อันเกี่ยวด้วยการจัดการศึกษา ของชาติ และทรงริเริ่มการสาธารณสุขของประเทศ ทั้งเร่งขีดเวชศึกษาขั้นมหาวิทยาลัยให้ขึ้นสู่ระดับทาง วิทยาศาสตร์ ตามปัจจุบันนิยมจนบรรดาแพทย์แผนปัจจุบันพากันนับถือพระองค์ท่านดุจเป็นบุรพาจารย์ทั่วไป แม้ในบัดนี้ทรงบริหารกิจการให้เกิดเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ และอาณาประชาราษฎร์โดยอเนกประการ ดังมีข้อความพิสดารปรากฏอยู่ในประกาศ เมื่อครั้งทรงรับพระสุพรรณบัฏเป็นกรมหมื่น และกรมขุนโดยลำดับนั้นแล้ว

ครั้งถึงในรัชกาลปัจจุบันนี้ ตลอดเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังมิได้ทรงบริหารราชการแผ่นดิน โดยพระองค์เอง ก็ได้ทรงสนองพระเดชพระคุณในตำแหน่งประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประธาน อภิรัฐมนตรีสภาและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์โดยลำดับ ได้ทรงรับพระราชภาระและทรงบริหารพระราชกรณียกิจ ต่างพระเนตรพระกรรณให้สำเร็จลุล่วงไปได้โดยเรียบร้อย ด้วยพระอุตสาหะวิริยะอย่างแรงกล้า ประกอบด้วยทรงมี พระปรีชาญาณอันสุขุมคัมภีรภาพในรัฐประศาสโนบาย จึงทรงวินิจฉัยเหตุการณ์ และทรงบริหารพระราชกรณียกิจ ผ่อนผันให้เป็นไปในทางที่ชอบโดยเหมาะแก่กาลเทศะยังผลดีงามให้บังเกิดแก่ประเทศชาติเป็นอย่างดี สมพระราชหฤทัย ดั่งปรากฏเป็นที่ทราบอยู่ทัวกันแล้ว

อนึ่ง ได้ทรงพระราชอนุสรณ์คำนึงถึงกาลก่อน อันกรมขุนชัยนาทนเรนทรได้ทรงมีพระวิสาสะสนิทสนมใน สมเด็จพระบรมราชบุรพการี จำเดิมที่ได้ประสูติและเสียมารดานั้นสมเด็จพระอัยยิกาเจ้าได้ทรงอุปถัมภ์เลี้ยงดูมา ดุจดังพระโอรสของพระองค์ ประทับร่วมพระตำหนักมากับสมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์ ทั้งสามพระองค์ รวมทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันนี้ด้วย วิสาสะอันนี้ยังคงมีมาตลอดจนถึง กาลปัจจุบันในขณะนี้ก็ทรงเป็นพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ฝ่ายหน้าเหลืออยู่พระองค์เดียว ทรงตั้งอยู่ในวัยวุฒิครุฐานิยภาพ เป็นที่นับถือรักใครของราชสกุลวงศ์ ตั้งแต่พระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวลงมา และมีพระอัธยาศัยซื่อตรง มั่นคงในสุจริตสัมมนาจารี มีความจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทอยู่โดยปรากฏ จึงสมควรที่จะทรง พระกรุณายกย่องพระเกียรติยศให้สูงศักดิ์ยิ่งขึ้น

จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ดำรัสสั่งให้เลื่อนพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนชัยนาทนเรนทร ขึ้นเป็นกรมพระ มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่าพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระชัยนาทนเรนทร จุฬาลงกรณราชวโรรส สยามสุขบทบุรัสการี เมตตาสีตลาหฤทัย อาชชวมัททวัธยาศัยสุจารี วิวิธเมธีวงศาธิราชสนิท นวมนริศรสมันตนบิดุลติรตนคุณสรณาภิรักษ ประยุรศักดิ์ธรรมมิกนาถบพิตร สิงหนาม ทรงศักดินา ๑๕,๐๐๐ ตามอย่างธรรมเนียมพระองค์เจ้าต่างกรมทั้งปวง

เจ้ากรม เปนพระยาชัยนาทนเรนทร ถือศักดินา ๘๐๐
ให้ทรงตั้ง ปลัดกรม เปนหลวงอุทัยนครคุณาคม ถือศักดินา  ๖๐๐
สมุหบาญชี เปนขุนมโนรมย์บำรุงราษฎร์ ถือศักดินา ๔๐๐

อนึ่ง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระชัยนาทนเรนทร ทรงเป็นพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ฝ่ายหน้า เป็นที่นับถือรัก ใครของราชสกุลวงศ์ ยังคงเหลืออยู่เพียงพระองค์เดียว ประกอบด้วยทรงมีพระเกียรติคุณปรากฏอยู่ในหนหลังเปน อเนกประการ ดั่งมีข้อความพิสดารอยู่ในประกาศสถาปนาขึ้นเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๓ นั้นแล้วถ้าหากยังดำรงพระชนม์ชีพอยู่ต่อไป ก็อาจได้รับพระมหากรุณายกย่องสถาปนาพระเกียรติยศ ให้สูงศักดิ์ยิ่งขึ้นไปอีก แต่บัดนี้ก็โอกาสแล้วที่จะยกย่องอีกได้ ออกในงานพระศพครั้งนี้และการสถาปนา พระเกียรติยศแด่พระศพนั้นก็ได้มีราชประเพณีเป็นแบบอย่างมาแล้วแต่กาลก่อน

ต่อมาในวันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๕ รัชกาลปัจจุบัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระยศขึ้นเป็น สมเด็จ ฯ กรมพระยา

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระราชดำริว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระชัยนาทนเรนทร ได้ประชวรสิ้นพระชนม์ลงโดยฉับพลัน เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๙๔ เป็นเหตุให้เศร้าสลดพระราชหฤทัยอาลัยถึงเป็นยิ่งนัก ด้วยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ ฯ องค์นี้ได้ทรงรับพระราชภาระ บริหารราชการแผ่นดินแทนพระองค์มาตั้งแต่ต้นรัชกาลแห่งพระองค์ และในครั้งหลังนี้เมื่อเสร็จงานพระราชพิธี บรมราชาภิเษก เฉลิมพระราชมณเฑียรแล้ว จำเป็นจะต้องเสด็จไปประทับอยู่ต่างประเทศอีกก็ได้ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ทรงบริหารพระราชภาระสนอง พระเดชพระคุณมาจนตราบเท่าวันสิ้นพระชนม์ในตอนนี้ถึงแม้จะปรากฏว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระชัยนาทนเรนทร ทรงมีพระสุขภาพอนามัยไม่สมบูรณ์ อันเนื่องจากได้ทรงตรากตรำมามาก แม้ทรงพระชรา

จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมดำรัสสั่งให้ประกาศเลื่อนพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระชัยนาทนเรนทร ขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร จุฬาลงกรณราชวโรรส สยามสุขบทสุรัสการี เมตตาสีตลาหฤทัย อาชชวมัททวัธยาศัยสุจารี วิวิธเมธีวงศาธิราชสนิท นวมนริศรสุมันตน บิดลติรัตนคุณสรณาภิรักษ์ ประยุรศักดิธรรมมิกานาถบพิตร

ประกาศ ณ วันที่ ๒๘ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๙๕ เป็นปีที่ ๗ ในรัชกาลปัจจุบัน

และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระชัยนาทนเรนทร เป็นพระยาชัยนาทนเรนทร เจ้ากรมถือศักดินา ๑,๐๐๐

ให้หลวงอุทัยนครคุณาคมเป็นพระอุทัยนครคุณาคม ปลัดกรมถือศักดินา ๘๐๐

ให้ขุนมโนรมย์บำรุงราษฎร์เป็นหลวงมโนรมย์บำรุงราษฎร์ สมุหบาญชี ถือศักดินา ๕๐๐

ขอให้ผู้ที่ได้ตั้งบรรดาศักดิ์ทั้ง ๓ นี้ จงมีความผาสุกสวัสดีทุกประการ เทอญ

สิ้นพระชนม์ในรัชกาลปัจจุบัน เมื่อวันพุธ เดือน ๓ แรม ๑๔ ค่ำ ปีขาล โทศก จุลศักราช ๑๓๑๒ ตรงกับวันที่ ๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๔

คำนวณพระชนมายุได้ ๖๗ ปี

ทรงเป็นต้นราชสกุล รังสิต

ที่ ๒ ในเจ้าจอมมารดา หม่อมราชวงศ์เนื่อง สนิทวงศ์

หน้า จาก ๒๗ หน้า